เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงาน นายหัสวิชัย เมืองโคตร ผู้ฝึกสอนกีฬาเรือพาย โรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา นำนักกีฬามาออกกำลังกาย เพื่ออบอุ่นร่างกายแบบพร้อมเพรียง เน้นเรื่องของเบสิกแรก โดยนักกีฬาเรือพายของโรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา ตำบลหว้านใหญ่ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ทุกเย็นนักกีฬาชุมนุมเรือพายทั้งชายและหญิงกว่า 50 คน จะต้องเข้ามาซ้อมเพื่อร่วมกิจกรรมและพัฒนาทักษะ ซึ่งนักเรียนมีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 จากนั้นจะเป็นการซ้อมพายเรือบนบกเพื่อให้ชินกับลักษณะท่าทางโดยมีโค้ชดูแลอย่างใกล้ชิด การลงสนามซ้อมเป็นอีกกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบ โดยโค้ชจะแบ่งเรือเป็น 2 ลำ ลำแรกจะเป็นนักกีฬาที่มีประสบการณ์ผ่านการแข่งขันมาแล้ว ส่วนอีกลำจะเป็นน้องๆ ที่ให้ความสนใจกีฬาเรือพาย ซึ่งโค้ชจะแนะนำตั้งแต่การถือใบพาย จังหวะพายเรือ หรือเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะความพร้อมเพรียงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

นาย ธราธร กิติราช นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา กล่าวว่า เริ่มแรกเห็นพี่ๆ มาซ้อมทุกคน ก็ได้ถามพี่ ๆ ว่าเล่นกีฬาอะไร พี่ๆ บอกว่าพายเรือ ต่อมาก็ลองมาพายดูเกิดความชอบ โดยไม่กระทบกับการเรียน ซ้อมเสร็จก็มาทำการบ้าน ตนเองเริ่มมาพายเรือตั้งแต่ ม.1 และพัฒนาการพายได้ดีขึ้นมาก อยากเป็นทหารเรือ เหมือนกับรุ่นพี่ ได้ฝึกสมรรถภาพร่างกาย ปัจจุบันเหรียญได้มากกว่า 10 เหรียญ

นายหัสวิชัย เมืองโคตร ผู้ฝึกสอนกีฬาเรือพายโรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา เผยว่า กีฬาเรือพายเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง เป็นทางเลือกที่จะให้นักเรียนใช้เป็นใบเบิกทางไปศึกษาต่อ และพัฒนาเรื่องระเบียนวินัย พัฒนาร่างกาย รวมถึงก้าวไปสู่ทีมชาติ ในชนิดกีฬาเรือพาย โดยเริ่มแรกหาเด็กที่มีความสนใจกีฬาเรือพายก่อน เสร็จแล้วเอามาฝึกจากพื้นฐานเบื้องต้น การจับพาย การพาย รวมถึงทักษะต่างๆ ที่ใช้เกี่ยวกับการพายเรือ

ในส่วนของกีฬาเรือพายที่มีแข่งขันคือของสมาคม รายการชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย และรายการของการกีฬาแห่งประเทศไทย จะมีการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กับ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ส่วนอีกรายการคือเรือประเพณีที่ท้องถิ่นจัดขึ้น ตรงนี้ก็สร้างรายได้ให้กับนักเรียนที่ไปรับจ้างเป็นฝีพายในการแข่งขันเรือประเพณีท้องถิ่นจัดขึ้น ส่วนเรือฝีพายยังเป็นรองของทางภาคกลาง ที่มีสนามแข่งบ่อย แต่ของเราก็อยู่ระดับต้นของประเทศเช่นกัน

นายสมชาย แซ่เซีย ประธานชมรมเรือพายมุกดาหาร กล่าวว่า เริ่มแรกเห็นเด็กบ้านอื่นแข่งก็ได้เหรียญทองกันเยอะ คิดว่าลองดูว่าบ้านเราทำไมไม่มีกีฬาอะไรเด่นเลย ก็เลยลองจับเยาวชนน้องๆ มาฝึกซ้อม ตอนแรกสู้ใครไม่ได้ก็ไปปรึกษาโค้ช แลกเปลี่ยนความรู้ ทำไปทำมาก็มีนักกีฬาเข้ามารวมตัวกันเยอะขึ้น เริ่มแรกไม่ชนะ แพ้มาตลอด ต่อมาก็เริ่มเข้ารอบบ้าง ชนะบ้าง แพ้บ้าง ก็เริ่มดีขึ้น กว่าจะมีถ้วยรางวัลเกือบ 20 ปี ได้ปรึกษาผู้รู้ ปรึกษาคนที่เก่งๆ อาศัยครูพักลักจำ บ้านไหนเก่งเราก็ไปหา สุดท้ายเริ่มเข้าไปภาคกลาง ไปศึกษาวิธีซ้อม ตนเองก็เป็นนักกีฬาเรือพาย ได้มาถ่ายทอดให้กับน้องๆ จากรุ่นสู่รุ่น จากวิธีซ้อม มีระเบียบวินัยมากขึ้น

ส่วนรายได้ของเด็กมาจากเข้าแข่งขันในกีฬาต่างๆ ถ้าเข้ารอบก็มีรางวัลพอได้ใช้ของเด็ก ส่วนจบการศึกษาแล้วสอบสถาบันต่างๆ ไปเรียนต่อได้ โดยได้วางอนาคตชมรมเรือพายไว้โดยรุ่นสู่รุ่น ก็คิดเหมือนกันว่าจะเลิกทำ คิดว่าหมดรุ่นนี้แล้วจะเลิกทำ ก็มีเด็กเข้ามาเรื่อยๆ ตราบใดที่มีเด็กเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่หยุด จะทำจนกว่าไม่มีแรง ส่วนงบประมาณก็มาจากส่วนตัว และบริษัทโตโยต้า มุกดาหาร โดย ดร.อีดิธ นามประกาย เข้ามาช่วยบ้าง ถ้าไม่มีบริษัทโตโยต้าก็อยู่ไม่ได้ และโรงเรียนหว้านใหญ่ ก็หาเด็กๆ มาให้ก็มาเสริมทัพกันขึ้นเรื่อยๆ ส่วนฝีพายก็รับเรื่อยๆ แล้วแต่จะเข้าจะออก สุดท้ายแต่ละรุ่นเหลือประมาณไม่เกิน 10 คน และเด็กๆ ทุกคนต้องมีระเบียบ มีวินัยในการฝึกซ้อม

ทั้งนี้ นักกีฬาของเรา ไม่เพียงเป็นตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ แต่นักกีฬาเรือพายจากที่นี่ยังพัฒนาไปจนติดทีมชาติไทย มาแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน และยังเป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ความสนใจ และผลิตนักกีฬาเข้าสู่กองทัพเรือ ไม่ขาดสายอีกด้วย

ทั้งนี้ ชมรมเรือพายมุกดาหาร อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องๆ นักเรียน เพราะให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและอุปกรณ์ที่มาตรฐาน โดยวางเป้าหมายว่าจะมีนักกีฬาเรือพายสร้างชื่อเสียงให้ประเทศจากรุ่นสู่รุ่นที่มาจากโรงเรียนหว้านใหญ่วิทยาต่อไป

สำหรับผลงานล่าสุดนั้น คว้ามา 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “พัทลุงเกมส์” ที่ จ.พัทลุง และนักกีฬาบางส่วนยังเป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งขันแข่งเรือประเพณีหลายสนามทั่วประเทศสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง และโรงเรียน รวมทั้งยังมีรายได้จากเงินรางวัลเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย (อนุศักดิ์-เสาวภา แสนวิเศษ ขตว.มุกดาหาร)