สืบเนื่องจากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ในหัวข้อ “มหากาพย์คอร์รัปชั่นไทย” โรงพัก 396 แห่ง ซึ่งเป็นเรื่องของโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ในสมัยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบโครงการและเซ็นอนุมัติ โดยในกรณีดังกล่าว ป.ป.ช. ได้สอบสวนและชี้มูลความผิดนายสุเทพ จนเป็นเหตุให้ในวันที่ 20 ก.ย. นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาตัดสินตัดสินชี้ชะตาจำเลยทั้งหมด หลังต่อสู้ยาวนานมากกว่า 10 ปี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่ โรงแรมเดวิส ซอยสุขุมวิท 24 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก ตนขอตั้งคำถามว่าทำไมอัยการสูงสุดถึงไม่สั่งฟ้อง ทำไมจึงให้ ป.ป.ช. สั่งฟ้องแทน และยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ถึง 10 ปี ทั้งๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมาก ตนมองว่าเป็นการใช้เวลาในการปราบคอร์รัปชั่นนานไปหรือไม่ และยังถือได้ว่าการปราบคอร์รัปชั่นของประเทศไทยใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ ตนไม่สามารถทราบได้ว่าผลการพิจารณาจะออกมาอย่างไร อาจจะตัดสินยกฟ้องหรือไม่มีความผิด ก็ต้องคอยดูกันต่อไปตามที่ศาลจะตัดสิน ตนไม่ขอก้าวล่วงและไม่พาดพิงใครทั้งนั้น จะขอเพียงนั่งรอดูผลลัพธ์เท่านั้น

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ ที่ตนอยากจะเน้นคือ 1.สัญญาไม่ได้สลับซับซ้อน 2.เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คุณอาจจะต่อสู้อะไรก็แล้วแต่ 3.มันเป็นเรื่องของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ ครม. ออกไว้ว่าให้เป็นสัญญาที่กระจายไปตามภาคเพื่อง่ายต่อการก่อสร้าง 4.มีการกลับมติ ครม. ให้มารวม ซึ่งตนไม่สามารถพูดถึงใครได้ทั้งนั้นเพราะก็กลัวเหมือนกันว่าเดี๋ยวจะเป็นการไปหมิ่นประมาทใคร แต่สิ่งที่ตนพูด สิ่งที่นำเสนอออกสู่สาธารณชนให้สังคมได้รับรู้ ก็คือประเด็นนี้ อย่างน้อยๆ ฝ่ายค้านในอดีตอย่างตน เเม้เวลาผ่านมา 10 ปี ผลงานก็ยังได้เห็น ยังได้เห็นกับตาในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่ได้เกริ่นนำไป ก็จะได้เห็นว่ามันมีความทะแม่งๆ จากคดีคอร์รัปชั่นธรรมดา มันได้กลายเป็นคดีการเมืองหรือไม่ ทำไมจึงใช้เวลานานแบบนี้ ทำไมโครงการง่ายๆ ในการสร้างโรงพัก 2-4 ชั้น ถึงใช้เวลากับการจัดการปัญหานาน

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า การจัดสร้างโรงพักทดแทนนี้ มาจากงบหนึ่งของพรรคหนึ่ง ซึ่งเอามากระจัดกระจายจัดการ และงบประมาณต่างๆ เหล่านี้ล้วนสูญเสีย รัฐบาลและประชาชนก็ได้รับความเสียหาย โดยข้อมูลต่างๆ ตนก็ได้ให้ไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว และวันพรุ่งนี้ที่จะมีการตัดสิน ตนก็ไม่ได้คาดหวังอะไร หรือว่าจะเห็นใครผิดติดคุกหรือไม่ ซึ่งถ้ามีคนติดคุกก็ถือว่าเซอร์ไพร้ส์อย่างมาก หรืออาจจะมีการยื่นเลื่อนคำสั่งอีกก็เป็นได้

นายชูวิทย์ ยังยืนยันว่า คดีนี้มีกระบวนการทำให้เรื่องนี้พิจารณาช้าอย่างแน่นอน ตนขอถามว่าการที่เป็นอย่างนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ ส่วนในวันพรุ่งนี้หากมีคำตัดสินว่ามีคนกระทำความผิดจริง แต่จะทำอะไรได้ เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างก็ได้เกษียณไปหมดแล้ว แต่ถ้าย่นเวลาในการพิจารณาและมีคำตัดสินเร็วกว่านี้ น่าจะเอาผิดและปราบคอร์รัปชั่นได้ดีกว่านี้

นายชูวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนสิ่งที่ตนเริ่มต้นมาจะสูญเปล่าหรือไม่ในวันพรุ่งนี้ ก็มองว่าไม่เป็นไร แต่สิ่งที่อยากชี้ให้เห็น คือ ประเทศไทยต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง และการที่องค์กรต่างๆ ออกมาพูดเรื่องการปราบคอร์รัปชั่น ก็ไม่ใช่เรื่องจริงที่ทำได้ เพราะเห็นได้จากเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งนับว่าได้สร้างความเสียหายอย่างมาก

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) สนามหลวง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

ส่วนทางด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ ยังได้เปิดเผยว่า ในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) นายสุเทพมีความพร้อมที่จะเดินทางไปรับฟังคำพิพากษา ในส่วนของจำเลยคนอื่นนั้น เมื่อศาลนัดแล้วและเป็นการนัดล่วงหน้าเป็นเดือน ทุกคนก็คงต้องมีความพร้อม ส่วนเนื้อหาของคดี นายสุเทพและทีมกฎหมายไม่มีความกังวลใจเพราะไม่มีอะไรต้องกังวล เนื่องจากเราได้เสนอข้อเท็จจริงให้ศาลไปทั้งหมดแล้ว เรามั่นใจในข้อเท็จจริงที่เราให้ศาล ส่วนคำพิพากษาจะออกมาเช่นไร เราไม่อาจรู้ได้เพราะเป็นเรื่องของศาล แต่มั่นใจในความมีอยู่ของข้อเท็จจริงที่เราได้นำเสนอไป.