วันเพ็ญเดือนสิบสอง…น้ำนองเต็มตลิ่ง “ลอยกระทง” ปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นประเพณีอันดีงามสืบสานมาตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน โดยศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีปรากฎชื่อประเพณี “เผาเทียนเล่นไฟ” เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ 

เมื่อพูดถึงวันลอยกระทง ทุกคนต่างนึกถึง “กระทง” สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงความเคารพต่อพระแม่คงคา หรือแม่น้ำและสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทุกคน ซึ่งใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค  โดยกระทงไม่ได้มีทำมาจากแค่วัสดุธรรมชาติเพียงเท่านั้น หากแต่ปัจจุบัน มีทั้งบางร้านที่ทำจากโฟม พลาสติก กระดาษ ขนมปัง และดัดแปลงมาจากวัสดุต่าง ๆ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนกระทง ทำให้สิ่งเหล่านี้เมื่อลอยน้ำแล้วขยะ ส่งผลกระทบต่อทั้งแม่น้ำและลำคลอง

จากสถิติศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่าปี 59 มีกระทงทั้งสิ้น 661,935 ใบ แบ่งเป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ กระทงโฟม 44,034 ใบ ขณะที่ปี 60 มีกระทง 811,945 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ กระทงโฟม 51,926 ใบ และปี 61 สามารถจัดเก็บกระทงได้จำนวน 841,327 ใบ แบ่งเป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติ 796,444 ใบ กระทงโฟม 44,883 ใบ ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าปริมาณขยะจากวันลอยกระทงเพิ่มขึ้นในทุกปี จึงน่าจับตามองว่าสถิติวันลอยกระทงในปีนี้ ปริมาณขยะจะสูงขึ้นอีกหรือไม่!?!

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในทุกปีทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้มีนโยบายจัดเก็บขยะกระทง โดยเตรียมความพร้อมเรื่องเรือที่ใช้ในการจัดเก็บกว่า 30 ลำ ซึ่งปีนี้มีจุดลำเรียงขยะวันลอยกระทง 2 จุด ได้แก่ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง สะพานพุทธ และบริเวณจุดราชบูรณะ ส่วนในแม่น้ำเจ้าพระยา มีการจัดเก็บกระทงจากช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานกรุงเทพ และอีกช่วงคือสะพานพระราม 2 ไปจนถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา รวมระยะประมาณ 34 กิโลเมตร ขณะที่คลองบางกอกน้อยอีก 4.3 กิโลเมตร รวมทั้งตามคลองต่าง ๆ เป็นส่วนความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำเป็นผู้จัดเก็บ  สำหรับในพื้นที่สวนสาธารณะเป็นความดูแลของสำนักงานเขตเป็นผู้จัดเก็บและรวบรวมปริมาณขยะ เพื่อแยกประเภทส่งข้อมูลให้แก่สำนักสิ่งแวดล้อม

นายชาตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนสถิติปี 61 มียอดปริมาณขยะจากกระทงกว่า 8 แสนใบ ในปีนี้จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบถึงปัญหา เพื่อลดปริมาณการใช้กระทงที่มาจากโฟม หรือกระทงที่ไม่ได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ และเพิ่มนโยบายให้มีการลอยกระทง “1 กระทงต่อ 1 ครอบครัว” เพื่อลดปริมาณขยะ โดยประสานไปยังพื้นที่เขตต่าง ๆ ให้รับทราบและลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยนโยบายปีนี้จะสำเร็จหรือไม่ต้องรอดูสถิติจากวันลอยกระทงอีกครั้ง

ทาง กรุงเทพมหานคร ได้เปิด 30 สวนสาธารณะ ให้ประชาชนได้เข้าไปลอยกระทง ได้แก่ 1.สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 2.สวนจตุจักร เขตจตุจักร 3.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร 4.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง 5.สวน 60 พรรษา สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง 6.สวนสราญรมย์ เขตพระนคร 7.สวนรมณีนาถ เขตพระนคร 8.สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร 9.สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ 10.สวนเสรีไทย เขต บึงกุ่ม 11.สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่ม 12.สวนหนองจอก เขตหนองจอก 13.อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 14.สวนน้ำบึงกระเทียม เขตมีนบุรี 15. สวนพระยาภิรมย์ เขตมีนบุรี 

16.สวนวารีภิรมย์ เขตคลองสามวา 17.สวนราษฎร์ภิรมย์ เขตหนองจอก 18.สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (ฝั่งพระนคร) เขตบางคอแหลม 19.สวนสันติภาพ เขตราชเทวี 20.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน 21.สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง 22.สวน 50 พรรษา มหาจักรีสิรินธร เขตประเวศ 23.สวนวนธรรม เขตประเวศ 24. สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 25.สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด 26.สวนสาธารณะบึงน้ำลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว 27.สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ เขตบางกอกน้อย 28.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตบางกอกน้อย 29. สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตสาทร และ 30.สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค เปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. 

ทั้งนี้ เหนือสิ่งอื่นใดการเตรียมการจัดเก็บกระทง และรณรงค์ลดปริมาณขยะจะไม่สามารถสำเร็จได้ หากไม่ได้รับ “ความร่วมมือ” จากประชาชนในทุกครัวเรือน ซึ่งควรตระหนักคำนึงนึกถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาแม่น้ำ-ลำคลองเน่าเสีย เพราะเรื่อง “ขยะ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อรักษาขนมธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่คู่คนไทยไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน.