จากกรณีประเด็นร้อนเรื่อง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ว่า ทำให้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเป็นรัฐมนตรี จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนสังคมโลกออนไลน์นั้น ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงขอเปิดคำวินิจฉัยของศาลปกครองและศาลฎีกา เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคุณสมบัติให้เข้าใจง่ายๆ

โดยคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ประเด็นแรก การพิจารณาคุณสมบัติตามมาตรา 12 (8) กรณีไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม จะต้องถือเอาพฤติกรรมหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

โดยประเด็นนี้ได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 249/2555 กรณีที่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากเห็นว่าผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกคนหนึ่งเป็นผู้มีประวัติเคยถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ข้อหาจำหน่ายยาเสพติดและถูกจำคุกที่เรือนจำจังหวัด แต่ภายหลังจากที่มีการสอบสวนคุณสมบัติแล้ว นายอำเภอก็ได้ประกาศรายชื่อให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านนำพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาพิจารณาด้วยและผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งในประเด็นปัญหาตามมาตรา 12 (8)

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 (8) หมายถึง ลักษณะต้องห้าม อันเป็นปัจจุบันของผู้สมัครในขณะที่มีการสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นดุลพินิจของนายอำเภอที่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงในขณะนั้น ซึ่งพฤติกรรมการกระทำความผิดที่อาจถือได้ว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม จะต้องมีพยานหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนด้วย และการล้างมลทินเป็นการลบล้างเฉพาะโทษ ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้ถูกลงโทษ

ประเด็นที่ 2 กรณีที่ผู้สมัครต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และพ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี แต่ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 (10) หรือไม่ ?

คดีนี้เกิดจากราษฎรในหมู่บ้านคัดค้านว่าผู้สมัครรับเลือกเป็ นผู้ใหญ่บ้านขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 (10) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ เนื่องจากเคยต้องโทษในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามคำพิพากษาศาลจังหวัด ให้จำคุก 4 ปี และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2545 ซึ่งนับถึงวันสมัครยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี แต่นายอำเภอได้ประกาศรายชื่อให้เป็นผู้สมัครเนื่องจากเห็นว่าได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ แล้ว

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ หมายความเพียงว่าผู้ที่ต้องโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษเท่านั้น ส่วนความประพฤติหรือการกระทำที่เป็ นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษหาได้ถูกลบล้างไปด้วยไม่ เพราะความประพฤติหรือการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจล้างมลทินให้หมดไปได้ ผลแห่งบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีเพียงให้ลบล้างโทษเท่านั้น หาได้มีผลเป็นการลบล้างการกระทำผิดตามความเป็นจริงที่ได้กระทำขึ้นให้หมดสิ้นไปด้วยไม่ และมาตรา 12 (10) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นพฤติกรรมที่อยู่ในลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อได้พ้นกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 กรณีที่ผู้สมัครต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในคดียาเสพติด แต่ศาลรอการลงโทษถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 (11) หรือไม่ ?

คดีนี้ราษฎรในหมู่บ้านได้มีหนังสือคัดค้านว่าผู้สมัครรับเลือกเป็ นผู้ใหญ่บ้านถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หากมีพฤติกรรมต้องโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ ย่อมอยู่ในลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายตลอดไป โดยไม่มีเงื่อนไขเวลาสิ้นสุดอันทำให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านในภายหลังได้เลย

ขณะที่คำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับคดีเลือกตั้ง ที่ 1179/2562 ว่าด้วยสิทธิรับสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีแบ่งเขต เนื่องจากผู้สมัครกระทำการทุจริตการสอบเข้ารับราชการครูและถูกปลดออกจากราชการ แต่ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 จึงมิได้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 

ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส…(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ…” และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ส.ส. จะต้องไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎในทางไต่สวนประกอบคำร้อง คำคัดค้าน และเอกสารพยานหลักฐานแห่งคดีว่า ผู้ร้องเคยถูกลงโทษทางวินัยข้าราชการครูให้ปลดออกจากราชการ กรณีกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการครู ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แม้ในเวลาต่อมาจะได้รับการล้างมลทิน ก็มีความหมายเพียงว่าผู้ร้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ปลดออกจากราชการครูเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ความประพฤติหรือการกระทำของผู้ร้องที่เป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วย 

ฉะนั้น พ.ร.บ.ล้างมลทิน มีผลเป็นเพียงการล้างโทษทางวินัยที่ผู้กระทำผิดได้รับเท่านั้น หาได้มีการลบล้างพฤติกรรมการกระทำความผิดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกลงโทษไปด้วยไม่ ย่อมต้องขาดจากคุณสมบัติจากการสมัครเป็น ส.ส. โดยสิ้นเชิง.