เวียนมาบรรจบครบอีกปีแล้ว สำหรับวันที่ 8 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันที่วงการบันเทิงไทยสูญเสียพระเอกชื่อดังตลอดกาลที่ชื่อว่า “มิตร ชัยบัญชา” ไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยถ้านับถึงวันนี้ มิตร ชัยบัญชา ได้เสียชีวิตไปแล้ว 52 ปี แต่ไม่เคยมีวันไหนเลย ที่วงการภาพยนตร์ไทยหรือหนังไทยจะลืมชื่อของเขา ไม่ว่าจะด้วยผลงานที่ทุ่มเทของเขา ตลอดจนอุปนิสัยใจคอที่เป็นคนใจกว้าง รักเพื่อนฝูงและมีน้ำใจ ทำให้ชื่อของ “มิตร ชัยบัญชา” ยังคงอยู่คู่วงการบันเทิงไทยและภาพยนตร์ไทย ไม่มีเปลี่ยนแปลง

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงขอชวนแฟนๆ ของ มิตร ชัยบัญชา ทุกคนไปเปิด 5 ผลงานอมตะของเขา ที่เข้าไปอยู่ในใจคนไทยได้จนถึงทุกวันนี้กัน

เรื่องแรก “จ้าวนักเลง” พ.ศ. 2502 โดยเป็นภาพยนตร์ไทย ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. สี พากย์สด ที่สร้างจากนวนิยายของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส สร้างโดย ทัศไนยภาพยนตร์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ อมรา อัศวนนท์ ร่วมด้วย ปัญจะ ศุทธรินทร์, เชาว์ แคล่วคล่อง, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 ฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงและเฉลิมบุรีและเป็นภาพยนตร์เล่าถึงต้นกำเนิดของ อินทรีแดง ว่าแท้ที่จริงคือ โรม ฤทธิไกร ลูกชายของมหาเศรษฐี ที่ปลอมตัวเพื่อปราบเหล่าร้ายทั้งหลายนั่นเอง

สำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ภาพยนตร์อินทรีแดงเรื่องนี้เป็นการสร้างครั้งแรก โดย รังสรรค์ ตันติวงศ์ และประทีป โกมลภิส เตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ต่อจาก ชาติเสือ ให้ มิตร ชัยบัญชา แสดง ระหว่างนั้น มิตร ชัยบัญชา ได้อ่านนิยายเรื่อง อินทรีแดง ที่บ้านรังสรรค์ ตันติวงศ์ จึงชอบและแจ้งความจำนงว่าต้องการแสดงเป็น อินทรีแดง เพราะมีสองบุคลิก เมื่อผู้สร้างและผู้กำกับเห็นความตั้งใจของพระเอก จึงตัดสินใจพา มิตร ชัยบัญชา ไปพบ เศก ดุสิต เพื่อขอซื้อนิยายอินทรีแดง ตอน จ้าวนักเลง ให้ มิตร ชัยบัญชา รับบท อินทรีแดง ครั้งแรก กับภาพยนตร์เรื่องจ้าวนักเลง เมื่อผู้ประพันธ์พบหน้ามิตร เขาถูกใจในรูปร่างสูงใหญ่ แบบชายชาติทหาร และได้กล่าวกับมิตรว่า “คุณคืออินทรีแดงของผม”

ภาพยนตร์ได้ออกฉายครั้งแรกวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 ทำรายได้เกินล้านบาท ซึ่งทำให้ มิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว นับตั้งแต่นั้นมา (หลังจากเป็นที่รู้จักและเริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่องแรก “ชาติเสือ” (2501)) พร้อมสร้างชื่อกลายเป็นพระเอกขวัญใจ มหาชน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเรื่อยๆอีกด้วย

เรื่องที่ 2 ภาพยนตร์ “เงิน เงิน เงิน” พ.ศ. 2508 เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2508 สร้างโดย ละโว้ภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง และ อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ในระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอีสต์แมน และเสียงพากย์ในฟิล์ม นับเป็นเรื่องแรกที่ มิตร และ เพชรา ได้แสดงภาพยนตร์ไทยมาตรฐานสากลตลอดเรื่อง มีความยาวถึงสามชั่วโมงเศษ รวมทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ของวงการภาพยนตร์ไทยด้วยการรวมนักแสดงในยุคนั้นไว้มากมายถึง 60 กว่าคน โดยมีใช้คำโฆษณาว่า เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน และยังมีเพลงประกอบ 14 เพลงจาก 15 นักเพลง สามารถทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์ 

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำ พ.ศ. 2508 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ได้แก่ โล่เกียรตินิยมในฐานะดารานำชาย-หญิง ที่ทำเงินรายได้มากที่สุด (มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์) และรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม (เพลง “หยาดเพชร”) และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อีกด้วย

เรื่องที่ 3 ภาพยนตร์ “อัศวินดาบกายสิทธิ์” พ.ศ. 2513 เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรก ที่มิตรร่วมแสดง และเป็นเรื่องเดียวจาก 3 เรื่อง ที่มิตรร่วมถ่ายทำจนจบก่อนจะเสียชีวิต มิตรถ่ายภาพยนตร์จีนค้างอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง จอมดาบพิชัยยุทธ (2514) ซึ่งได้เปลี่ยนนักแสดงนำเป็น ลือชัย นฤนาท แสดงต่อ และอีกเรื่องให้ ไชยา สุริยัน แสดงแทน โดยหลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง บ้านสาวโสด มิตรเดินทางไปฮ่องกงพร้อมกับเพชราและคณะ ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เพื่อถ่ายทำปิดกล้อง ก่อนจะกลับมาเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตในวันที่ 8 ตุลาคม ในการถ่ายทำเรื่อง อินทรีทอง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีการถ่ายทำเป็นสองเวอร์ชั่น มีกว่าง หลิน ดาราชาวฮ่องกง รับบทนางเอกสำหรับฉบับที่ฉายในต่างประเทศ และเพชรา เชาวราษฎร์ รับบทนางเอกสำหรับฉบับที่ฉายในประเทศไทย เดิมทีภาพยนตร์จะใช้ชื่อไทยว่า อภินิหารดาบทองคำ หรือ ดาบอาญาสิทธิ์ แต่เมื่อฉายจริงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อัศวินดาบกายสิทธิ์ หลังจาก มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต ผู้สร้างได้แก้ปัญหาการถ่ายทำฉากที่ค้างอยู่ โดยใช้นักแสดงสมัครเล่นจากจังหวัดชัยภูมิ ชื่อ ชาติ ชัยภูมิ ซึ่งมีหน้าตาท่าทางคล้ายมิตรมาก มาแสดงแทน

เรื่องที่ 4 ภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” พ.ศ. 2513 เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ โดยใช้นามแฝงว่า “มหศักดิ์ สารากร” โดยมิตร ชัยบัญชา มีส่วนร่วมในเนื้อเรื่องด้วย คู่พระ-นาง คือ ไอ้คล้าว กับ ทองกวาว รับบทโดย มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนคู่รอง คือ แว่น กับ บุปผา รับบทโดย ศรีไพร ใจพระ กับ บุปผา สายชล ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้ถล่มทลายจากทั่วประเทศถึง 13 ล้านบาท และฉายติดต่อกันนาน 6 เดือนที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ทำรายได้กว่า 7 ล้านบาทในครั้งนั้น เนื่องจากเนื้อหาสนุกสนานและมีกลิ่นอายของภาคอีสาน เปิดทางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ไทยจากระบบฟิล์ม 16 มม. พากย์สด มาเป็นระบบฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม

โดยภาพยนตร์มนต์รักลูกทุ่งมีเพลงประกอบจากภาพยนตร์จำนวน 14 เพลง เป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเพลงในภาพยนตร์ทั้ง 14 เพลงและภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้ทั้งดารานำ และนักร้องลูกทุ่งที่ร่วมแสดงในครั้งนั้นด้วย ได้แก่ ไพรวัลย์ ลูกเพชร, บุปผา สายชล, ศรีไพร ใจพระ และ บรรจบ เจริญพร มนต์รักลูกทุ่ง ได้กลับมาฉายใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2515 และในปี พ.ศ. 2534 ฉายที่โรงภาพยนตร์แอมบาสเดอร์ นอกจากนี้ หลังจากปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เมื่อถึงวันงานรำลึกมิตร ชัยบัญชา ก็มักจะมีเสียงร้องให้นำมนต์รักลูกทุ่ง (2513) กลับมาฉายอีก บางปีก็ฉายได้บางปีก็ฉายไม่ได้เพราะสภาพฟิล์มที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เริ่มบอบช้ำอีกแล้ว แต่โครงการคิดถึงหนังไทยของพันธมิตรฟิล์มสามารถเจรจาขออนุญาตจากครูรังสีในการนำกลับมาทำเป็น VCD ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2544 จึงได้นำฟิล์มเนกาทีฟที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2535 ไปเข้าเครื่องเทเลซีนที่บริษัท SOHO ASIA จำกัด เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเทปมาสเตอร์ซึ่งในการเทเลซีนครั้งนั้น พันธมิตรฟิล์มจึงเรียนเชิญครูรังสี ซึ่งตอนนั้นไปพักอยู่จังหวัดจันทบุรี มาดูการเทเลซีนหนังและสั่งการด้วยตนเอง จัดเป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่อง ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ

เรื่องที่ 5 ภาพยนตร์ “อินทรีทอง” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ของสมนึกภาพยนตร์โดย สมนึก เหมบุตร ซึ่ง มิตร ชัยบัญชา ขอเป็นผู้กำกับการแสดงด้วยตนเองครั้งแรก มิตรรักและหลงใหลในบท อินทรีแดง อย่างมาก ถึงขนาดยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพื่อให้งานแสดงออกมาสมจริงสมจัง จนเป็นสาเหตุให้มิตรเสียชีวิต ขณะถ่ายทำฉากอินทรีทองโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 16.21 น. ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา ในระบบฟิล์ม 35 มม. สีอีสต์แมน พากย์เสียงในฟิล์ม

โดยเรื่องนี้ การถ่ายทำสำเร็จได้ด้วยดี จนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 09.00 น. ในเรื่องหลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมี วาสนา เป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไปเพื่อความสมจริง และความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคที่มิตรไม่อาจรู้ได้ เพราะกำลังแสดงอยู่ ปรากฏว่าด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น โดยที่มิตรไม่ได้เหยียบบนบันได และต้องโหนตัวอยู่กับบันได เครื่องไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้อง แล้ว มิตร พยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน ในขณะที่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ

ทั้งนี้ จริงๆ แล้ว มิตร ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ข้อมือซ้ายเกี่ยวพันกับบันไดลิง แต่เนื่องจากเชือกบาดข้อมือจนเกือบขาด มิตรทนความเจ็บไม่ไหว จึงตัดสินใจแกะเชือกที่รัดข้อมือ แล้วปล่อยตัวลงมา โดยตั้งใจว่าจะลงสู่บึงข้างล่างจะได้รอดชีวิต แต่ด้วยที่ว่าลมตีร่างมิตร ทำให้ตกลงมากระแทกกับพื้น ตรงจอมปลวกจากความสูง 300 ฟุต เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ด้วยเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันที เพราะร่างกายแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซม. ยาว 8 ซม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น. ท่ามกลางความเสียใจของแฟนหนังทั้งประเทศ

แม้ในวันนี้ “มิตร ชัยบัญชา” จะจากโลกนี้ไปแล้วกว่า 52 ปี แต่ไม่มีวันไหนเลยที่แฟนหนังไทยจะลืมชื่อของเขา ไม่ใช่เพราะเขาเป็นพระเอกดังที่หล่อเหลาและมีน้ำใจเพียงอย่างเดียว แต่เพราะทั้งชีวิตของเขาได้มอบให้ “แฟนหนัง” ของเขาผ่าน “ชีวิตการเป็นนักแสดง” ของเขาจวบจนนาทีสุดท้าย

ด้วยรักและเคารพ

“เดลินิวส์ออนไลน์”