ยังคงเป็นประเด็นพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่นักร้องดัง เติร์ด tilly birds ที่ได้ทวีตถึงกรณีเหตุเศร้าสลดกราดยิงเด็กหนองบัวลำภู ถึงการที่ให้ครอบครัวผู้สูญเสียต้องให้เขาถือป้ายเชียร์ หรือ ยืนต้อนรับข้างพรมแดง ว่าเป็นการสร้างซีนให้พวกเขากลายเป็นตัวประกอบ แทนที่จะปลอบขวัญให้กำลังใจ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น
-โซเชียลเสียงแตกหลัง “เติร์ด tilly birds” ถามปมปูพรมแดงหนองบัวลำภู

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ถึง #เติร์ดtillybird #พรมแดงกับแขกร่วมงาน” เมื่อ เติร์ด tilly bird ทวีตว่า เราเข้าใจความรู้สึกการสูญเสียนะ แล้วนี่พ่อแม่เสียลูกไป ลูกก็ยังเล็กอยู่เลย เป็นเรา เราไม่รู้จะทำยังไง ทำไมต้องให้เขาถือป้ายเชียร์ หรือยืนต้อนรับข้างพรมแดนปูพรมแดงทำไม กาลเทศะอยู่ไหน แทนที่จะมาปลอบขวัญให้กำลังใจ กับมาสร้างซีนให้เขาเป็นตัวประกอบนั้น

“เป็นการ พูดเองเออเอง การที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำสูงสุดของประเทศ เดินทางไปเพื่อไว้อาลัยในสถานที่เกิดเหตุ แล้วมีพรมแดง มีคนต้อนรับ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติทั่วไป ทั่วโลกก็ทำกันทั้งนั้น ปรากฏตามภาพที่พี่เอ๋ให้ดูก่อนหน้านี้นะ” ปกติผู้นำสูงสุดในต่างประเทศ เดินทางไปไว้อาลัย สั่งลดธงชาติครึ่งเสาทั่วประเทศ พรมแดง ถือเป็นพิธีการสำคัญ ที่จะแสดงถึงการให้เกียรติ และอาลัยครอบครัวผู้เสียชีวิต ถือเป็นหลักปฏิบัติทางสากล

แต่..ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยน โดยเฉพาะ คนที่ไม่ทราบและไม่ให้ความสำคัญกับพิธีการก็จะ….ง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีอะไร ขี่มอเตอร์ไซค์ไปแล้ววางดอกไม้กลับบ้านก็ได้ จะเปลี่ยนประเพณีเป็นแบบนั้นก็ได้ โดยเฉพาะพวกเราที่อยู่กันตามต่างจังหวัด ก็จะไม่ค่อยมีพิธีการขนาดนี้ ไม่มีนายกรัฐมนตรีมาร่วมพิธีแถวบ้านขนาดนี้ ก็..ไม่เข้าใจกัน หรือแกล้งไม่เข้าใจกัน “ดังนั้น เพื่อปรับให้เหมาะกับยุคสมัย การไว้อาลัย จะมีพรมแดงหรือไม่มีพรมแดงก็ได้ อย่าไปดราม่าเยอะ” ส่วนคนที่มายืนรอนายก หรือมาชูป้าย อันนั้นห้ามไม่ได้ จะให้ทำอย่างไร ให้ไปไล่เหรอ

การสูญเสียครั้งนี้ เป็นความเจ็บปวดของคนทั้งประเทศ ซึ่งการสูญเสียนี้ เติร์ดน่าจะเข้าใจดีเพราะเคยสูญเสียพ่อและแม่มาแล้ว และด้วยยุคสมัยในตอนนั้น จะเอา…ง่ายๆ ก็ได้ ไม่ต้องมีคนมาร่วมงาน ไม่ต้องมานั่งมายืนในงาน มาร่วมไว้อาลัย จะได้ไม่ต้องมาตั้งคำถามกาลเทศะอยู่ไหน ไม่ต้องไปด่าคนมาร่วมงานเวลาไม่ถูกใจอะไร

“ต้องเรียนรู้ประเพณีนะลูก ปกติแม่มาจะจัดหนักทุกคน แต่สำหรับเติร์ด ตรงๆ ว่าอยากให้กำลังใจมากกว่า เพราะเป็นนักสู้ตัวจริง แต่ด้วยวัยและประสบการณ์อาจจะไม่เข้าใจจริงๆ เลยตั้งคำถาม” สุดท้าย ขอให้เติร์ดมีงานเยอะๆ เป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดีในการสู้ชีวิต เป็นแรงบันดาลใจ กับเยาวชน ว่าหนักกว่าเราเขายังผ่านมาได้..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ปารีณา ไกรคุปต์