กรณีเดลินิวส์นำเสนอ 3 โครงการก่อสร้างอาคารเรียนทิ้งร้างในโรงเรียน 3 แห่ง ในสังกัดของเทศบาลตำบลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยใช้งบประมาณจัดสรรอุดหนุนจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และเกิดความขัดแย้งในการทำงานบางส่วน ทำให้ผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตัดสินใจทิ้งงานไป ท่ามกลางความกังขาของผู้คน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนต่างต้องการข้อสรุปว่าจะทำอย่างไรต่อไป เทศบาลเร่งสำรวจโครงสร้างเตรียมสานงานต่อให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เตรียมสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่บางคนที่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข่าวนั้น

ผู้รับเหมาทิ้งงานตึกร้าง 3 รร. เป็นรายเดียวกัน ป.ป.ช.ลุยสอยจนท.ละเว้นฯ

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายพยับ คชพลายุกต์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีผู้รับเหมาทิ้งงาน อาคาร 3 แห่ง ของเทศบาลตำบลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารเรียน คสล. 4 ชั้น 12 ห้องเรียน โรงเรียนท่าเรือประชานุกูล งบประมาณ 10,444,000 บาท โครงการก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 12 ห้องเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดแค งบประมาณ 8,134,000 บาท และโครงการก่อสร้างอาคารเรียนอนุบาล 8 ห้องเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง งบประมาณ 6,133,000 บาท รวม 24,711,000 บาท ปัจจุบันผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาได้เลิกกิจการไปแล้ว

ทั้งนี้เทศบาลตำบลท่าเรือชี้แจงว่า คณะผู้บริหารชุดเก่าไม่ได้แจ้งให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน จึงไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ ต่อมาคณะผู้บริหารชุดใหม่ได้แจ้งให้ผู้รับเหมาชี้แจงเหตุผลทิ้งงาน เพื่อขอทราบเหตุผลความจำเป็นก่อนแจ้งกรมบัญชีกลางประกาศให้เป็นผู้ทิ้งงานต่อไป สำหรับโครงสร้างอาคารได้ให้วิศวกรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาตรวจสอบแล้วและรอผลการตรวจสอบ ทั้งนี้ นายชโลม โปลิตานนท์ นายกเทศมนตรีตำบลตำบลท่าเรือ รับปากจะดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนทั้ง 3 หลังให้แล้วเสร็จ หากโครงสร้างอาคารสามารถดำเนินการต่อได้ โดยอาจใช้เงินสะสมหรือขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจมาก่อสร้างอาคาร

“ผมกำชับให้เทศบาลตำบลท่าเรือเร่งดำเนินการตามระเบียบให้ถูกต้อง ประกาศให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ทิ้งงาน ตรวจสอบโครงสร้างอาคาร หางบประมาณก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับเหมากรณีก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความผิดว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ฝากหน่วยงานราชการกรณีมีโครงการก่อสร้างควรวางแผนการบริหารจัดการโครงการ การคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกฎหมาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จควรมีแผนการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากอาคาร การบำรุงรักษาอาคาร เพื่อไม่ให้เกิดโครงการ “คิด ทำ ทิ้ง” สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน” นายพยับกล่าว

นายพงศกร มงคลหมู่ ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การดำเนินงานของสำนักงานป.ป.ช.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการติดตามอาคารที่ก่อสร้างไม่เสร็จ โดยหลายแห่งผู้บริหารท้องถิ่นที่ทำค้างไว้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงเป็นปัญหาของผู้บริหาร อปท.ชุดใหม่ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตได้ลงไปให้คำแนะนำในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ซึ่งติดขัดปัญหาทาง ป.ป.ช.และชมรมแนะนำให้สอบถามคลังจังหวัด เพื่อไม่ปล่อยให้อาคารร้างจะสนับสนุนสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อประโยชน์กับท้องถิ่น ขอขอบคุณ “เดลินิวส์” ที่เกาะติดเรื่องดีๆ เหล่านี้ด้วย

ขณะที่ นางนิตยา หิรัญประดิษฐ์ โค้ช STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชมรม STRONG จิตพอเพียงฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยงาน ป.ป.ช.อยุธยา โอกาสให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนช่วยกันดูแล และดำเนินการตามนโยบาย “ป้อง นำปราบ” หากประชาชนพบเห็นการดำเนินโครงการภาครัฐไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทิ้งร้าง หรือมิได้ใช้ทำประโยชน์ มีความเสี่ยงต่อการทุจริต สามารถแจ้งได้ที่ 1205 หรือ 0-3532-9030.