เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ถนนสายมหาสารคาม-กมลาไสย ช่วงบ้างเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่แขวงการทาง ชลประทาน และเทศบาลเมืองมหาสารคาม เร่งนำดิน กระสอบทราย และท่อ มาวางกั้นน้ำ เพื่อให้รถสัญจรไปมาได้สะดวกและลดความอันตรายของสายน้ำที่เอ่อท่วมถนน และเข้าพื้นที่ไร่นา หลังจากน้ำจากแม่น้ำชีไหลล้นถนน ข้ามกระสอบทรายที่ชาวบ้านกั้นไว้ก่อนหน้านี้สูง 5 ชั้น ขาด 4 จุด น้ำไหลเชี่ยว รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดถนนยาวนับ 10 กิโลเมตร ขณะที่ชาวบ้านเร่งขนข้าวเปลือกที่มีอยู่ 20 กระสอบสุดท้าย นำขึ้นที่สูง เพื่อเก็บไว้รับประทาน หลังน้ำท่วมนา 30 ไร่ นอกจากนี้ยังมีกำแพงโรงเรียนบ้านเกิ้ง ถูกน้ำเซาะพังถล่มลงมาได้รับความเสียหายหลายสิบเมตร

นายสมัย จักรทุม ผู้ใหญ่บ้านหมู่13 เปิดเผยว่า เนื่องจาก 3 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเอ่อล้นกระสอบทรายที่ชาวบ้านเอากั้นถนนสายมหาสารคาม-กมลาไสย ช่วงบริเวณบ้านเกิ้ง พังถล่มลงมา 4 จุด จุดละประมาณ 5 เมตร กระแสน้ำไหลแรงรถไม่สามารถผ่านได้ แม้แต่ชาวบ้านที่เดินเท้าเปล่ายังเดินลำบาก น้ำที่ไหลแรง ส่งผลกระทบกำแพงโรงเรียนบ้านเกิ้ง พังทลาย นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ต้องปิดเป็นการชั่วคราว และยังมีนาข้าวเกษตรกรหลายพันไร่ได้รับผลกระทบ ส่วนชาวบ้านในบ้านเกิ้งทั้ง 4 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย หมู่ 13, 5, 6, 10 ระดับน้ำสูงประมาณ 130 เซนติเมตร เดือดร้อนนับพันคน ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งน้ำเครื่องจักรเข้าเสริมคันดิน ซ่อมแซมจุดรั่วเพื่อให้รถของชาวบ้านสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย อุปสรรค คือ เครื่องจักไม่เพียงพอ และดินที่นำมาเสริมอยู่ไกล จึงทำได้ล่าช้า 

ด้าน นายนันทวิทย์ นาคแสง นายอำเภอเมืองมหาสาคาม ได้เปิดศูนย์พักพิงสำหรับประชาชน ผู้ประสบภัยน้ำท่วม และมีความต้องการย้ายออกมาพักชั่วคราว ณ อาคารพักวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม (ริมห้วยคะคาง) สามารถเข้าพักได้ตั้งวันที่ 14 ต.ค.65 เป็นต้นไป

ขณะที่ แพทย์หญิงจรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะบุคลากร ร่วมกันออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบทั้งสุขภาพกายและจิตใจ จึงได้พื้นที่ เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตรวจรักษาโรค และดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้ขาดยา ดูแลสภาพจิตใจ ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านหลายรายประสบปัญหาโรคน้ำกัดเท้าและภาวะเครียดหลังประสบภัยน้ำท่วมมาเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้าน เฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า เป็นต้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบประชาชนส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ เจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด จึงได้แจกยาและให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพอีกด้วย.