กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ระบุชัดเจนว่า ภาวะเลวร้ายที่สุด กำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า เศรษฐกิจจะมืดมนมากกว่าปี 65 พร้อมหั่นตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 66 จากเดิม 2.9% เหลือเข้าสู่ระดับ 2.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 44

3พายุร้ายรอวันระเบิด

พายุใหญ่ 3 ลูก ทั้ง สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ยังยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เร่งขึ้นดอกเบี้ยเต็มสูบ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจนำไปสู่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จนกระเทือนไปทั่วโลก และสุดท้าย ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการใช้นโยบายซีโร่ โควิด

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเห็นสัญญาณร้ายชัดขึ้น ทั้งตัวเลขการส่งออก ที่อุตสาหกรรมใหญ่บางกลุ่ม ชะลอตัวกว่า 10-30% ขณะที่เงินกู้ที่ใช้ประคับประคองเศรษฐกิจกำลังจะหมดหน้าตัก แถมยังมีปัญหาขาดดุลคู่ ทั้งดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนการนำเข้าก็พุ่งทะยาน เพราะค่าเงินบาทอ่อนยวบ หากประเทศขาดดุลคู่กันแบบนี้นาน ๆ ถือว่าเป็นสัญญาณไม่ดี ถ้าระเบิดพร้อมกัน เศรษฐกิจไทยพังแน่!!!

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ผู้ประกอบการไทย เริ่มกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้านมากขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและสหภาพยุโรป หรืออียู ที่กำลังชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ได้ จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากเริ่มมีสัญญาณของคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวจากสหรัฐและอียู โดยพบว่า บางกลุ่มอุตสาหกรรมหดตัวแล้ว 30% 

กังวลหนักส่งออกแผ่ว

พายุเศรษฐกิจโลกต่าง ๆ เข้ามาพร้อมกัน แบบใหญ่ขึ้น เป็นประเด็นที่ไทยต้องระวัง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ตลาดหลักอย่างสหรัฐที่พยายามลดความร้อนแรง เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ส่วนยุโรป ได้รับผลกระทบจากปัญหาของรัสเซียและยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงจีน ที่ยังเป็นซีโร่โควิด-19 ทำให้แนวโน้มการส่งออกในปีหน้า ทั่วโลกอาจปรับตัวลดลง เป็นสิ่งที่เรากังวล สิ่งที่เราทำได้ คือ ต้องเน้นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และพยายามหาตลาดใหม่ที่สำคัญ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย และประเทศในอ่าวทั้งหลาย

จี้เจาะตลาดใหม่ดึงเงิน ตปท.

อีกสิ่งสำคัญที่สุด ต้องดึงเงินการลงทุนจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ เข้ามายังประเทศไทย เพื่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ อย่างตอนนี้ที่ได้ผลคือการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าที่หลายประเทศใหญ่ ๆ เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยทั้งฟ็อกซ์คอนน์จากไต้หวัน บีวายดี จากจีน  เป็นตัวดึงดูดให้อีวีไทยน่าสนใจ และหวังว่า จะดึงไปถึงเทสล่า สัญชาติสหรัฐ ที่อาจเปลี่ยนแปลงเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องของไบโอพลาสติก ที่คาดว่า อีกไม่นาน ไทยจะเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของโลก และต้องทำท่องเที่ยวของไทยให้น่าสนใจ เพราะภาคการท่องเที่ยวเข้ามาปุ๊บ ได้ตังค์ปั๊บ! ที่สำคัญยังช่วยหล่อเลี้ยงคนอีกมหาศาลที่อยู่ในภาคของการท่องเที่ยวอีกจำนวนหลายล้านคน รวมถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ ที่ไทยมีจุดแข็งมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางได้ 

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 น่าจะเติบโตได้ 3-3.5% แม้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ แต่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ปีหน้าเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในกรอบ 3.5-4.0% ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิดที่ลดลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เริ่มคลี่คลาย แม้อาจมีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และดอกเบี้ยแพงขึ้น 

เปิด 4 ข้อเสนอทางรอดไทย

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้จัดเตรียมข้อเสนอเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและเสนอต่อรัฐบาล เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มจากด้านต้นทุนพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ควรมีนโยบายช่วยเหลือผู้ใช้พลังงานน้อย มาตรการส่งเสริมการซื้อไฟฟ้าข้ามสายส่ง  การปรับโครงสร้างระบบพลังงานชาติ สนับสนุนการเปิดเสรีด้านพลังงานชาติ ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพิ่มนโยบายการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลทางด้านพลังงาน 

 ไฮเทคอุ้มเกษตร-แก้หนี้

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นในเรื่องของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร ควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสินค้าที่ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ กำหนดนโยบายการจัด
โซนนิ่งในการเพาะปลูกของประเทศให้ชัดเจน สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และการแนะนำวิธีการ ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องกับเกษตรกร 

ด้านการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ สนับสนุนให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูง ช่วยลูกหนี้ให้สามารถหลุดพ้นจากหนี้สินที่สะสมมานาน ซึ่งภาครัฐได้มีการดำเนินการอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนเติมสภาพคล่องใหม่ให้เอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู โดยการบูรณาการฐานข้อมูลลูกหนี้ให้กับสถานบันการเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานภาคครัวเรือนในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น 

ด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ โดยหอการค้าฯ จะหารือกับซีอีโอบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประเด็นสำคัญคือ การมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ การอัพสกิล-รีสกิล ให้กับแรงงาน ยกระดับผลิตภาพการผลิต ด้วยการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย และสนับสนุนให้ภาครัฐนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในลักษณะอี-กอฟเวอเมนท์ 

จี้แก้ ก..ถือครองอสังหาฯ

อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่น่าสนใจ “มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองไปในทิศทางเดียวเช่นกันว่า ปีหน้าและปีต่อไปเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นและส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิและภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วยที่กระทบทั้งหมดจากรายได้ที่ชะลอตัว พร้อมกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่ชะลอตัวตามมา โดยธุรกิจอสังหาฯ จะทำให้ราคาสินค้าประเภทเหล็ก วัสดุก่อสร้าง ปรับขึ้นอีกและกระทบต่อต้นทุน จึงอยากเสนอแนะรัฐบาลให้รับมือปัญหาที่จะตามมาในอนาคต ด้วยการแก้กฎหมายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติประเภทแนวราบ ให้สามารถถือครองได้เช่นเดียวกับปี 40 ที่เปิดให้ต่างชาติเข้าซื้อและถือครองคอนโดมิเนียมได้ เพื่อช่วยสร้างเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศ   

ทั้งนี้ อาจกำหนดระยะเวลาการเข้าซื้อเป็นช่วงสั้น ๆ 1-3 ปี จากนั้นนำมาพิจารณาผลตอบรับว่าดีหรือไม่ดี พร้อมกับออกกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนซึ่งอาจใกล้เคียงกับกฎเกณฑ์ของคอนโดมิเนียม หรือระบุว่าผู้ที่เข้ามาถือครองจะต้องซื้อเพื่อเข้ามาพักอาศัยเท่านั้น จะต้องไม่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทำธุรกิจแข่งขันกับคนไทย หรือสร้างผลกระทบให้ธุรกิจในไทย เนื่องจากขณะนี้นักวิชาการหลายท่านมองว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวยาวและจำเป็นจะต้องหาเครื่องจักรใหม่แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครคิดได้ ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงอยากนำเสนอในเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา

ภาคบริการหั่นต้นทุนไม่จำเป็น 

ด้านกลุ่มธุรกิจอุปโภค-บริโภค อย่าง “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มองว่า โมเดลธุรกิจอาหารจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องแนวโน้มผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้ามากนัก แต่ที่ทำให้เกิดปัญหารุนแรงสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และโรคระบาดอื่นในอนาคตเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า จึงมองว่าภาพใหญ่ของธุรกิจร้านอาหารในปีหน้านี้ โฟกัสที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจฟื้นตัว และกลายเป็นช่วงขาขึ้น เช่นเดียวกับบรรดากลุ่มธุรกิจสายการบิน และโรงแรม 

กระทบในทุกอุตสาหกรรม

อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่สำคัญ อย่างภาคธุรกิจท่องเที่ยว “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย มองว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวแม้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง โดยสิ่งที่ต้องรับมือเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ คือการบริหารความเสี่ยง โดยลดต้นทุนบางอย่างที่ไม่จำเป็น คงอัตราค่าห้องพักไม่ให้สูงมากเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการจองห้องพัก เพราะหากปรับขึ้นราคาในช่วงดังกล่าวโอกาสที่จะสูญเสียยอดจองก็จะสูงขึ้น รวมถึงชะลอการรีโนเวทห้องพักออกไปก่อนเพื่อประหยัดต้นทุนและสำรองไว้ใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ส่วน “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย มองว่า สภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติอย่างนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการรายเล็ก ส่วนร้านอาหารขนาดกลางหรือเอสเอ็มอีแม้ปรับขึ้นราคาอาหารบางรายการตามราคาวัตุดิบที่แพงขึ้น แต่ยังสามารถอยู่ได้เพราะมีฐานลูกค้าประจำ ขณะที่ร้านขนาดใหญ่สามารถต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้ เพราะมีสายป่านยาว ขณะที่ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจกระทบไทยด้านการส่งออกเพราะร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าหลายรายการ แต่ไม่น่าจะกระทบร้านอาหารมากนักเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าช่วงไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจะเดินทางเดือนละ 1.5 ล้านคน ซึ่งทำให้ร้านอาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ เพราะรายจ่ายจากนักท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของรายจ่ายต่อนักท่องเที่ยวต่อคน

เรียกได้ว่า ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป ทุกภาคส่วนต้องเกาะติดสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบตรงมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญกระสุนหน้าตักต่าง ๆ ของรัฐบาลก็ร่อยหรอแทบไม่มีเครื่องมือออกมาช่วยได้มากนัก นอกจากการ “กู้ ๆๆๆๆ” ถ้าทุกคนยังไม่ตั้งรับดี ๆ ใช้เงินอย่างอีหลุยฉุยแฉก ระวัง!!! เศรษฐกิจจะซ้ำรอย “ศรีลังกา”.