วันที่ 3 พ.ค. นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.97 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ และประเมินกรอบเงินบาท 36.60-37.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.80-37.00 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ส่วนหนึ่งอาจได้แรงหนุนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น รวมถึงการปิดสถานะของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ได้ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ในช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐ ก็มีส่วนลดความต้องถือครองเงินดอลลาร์ลง ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ ทั้งข้อมูลการจ้างงาน และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้

ตลาดหุ้นสหรัฐ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Nvidia +3.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Qualcom +9.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.51% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.91%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.22% กดดันโดยแรงเทขายทำกำไรบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Infineon Tech. -4.2%, ASML -2.6% สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ในฝั่งสหรัฐ ก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากรายงานอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนล่าสุดที่ออกมาสูงกว่าคาด

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ทยอยปรับตัวลดลง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง และยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นสวนทางคาดการณ์ ก็มีส่วนลดความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อและช่วยให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ย่อตัวลงบ้าง

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในคืนวันศุกร์นี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงได้ ทว่า เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐนั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่วนบรรยากาศในตลาดการเงินก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดแข็งค่าแตะระดับ 153.3 เยนต่อดอลลาร์ ที่อาจมาจากทั้งการเข้าแทรกแซง (ถ้าเกิดขึ้นจริง) ในช่วงการประชุมเฟดและการปิดสถานะ Short JPY ของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.9 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,310-2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในการทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (ISM Services PMI) และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า การแข็งค่าหลุดโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่วันก่อนหน้า ได้สะท้อนว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มมีกำลังมากขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดที่คลี่คลายลงบ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐ พลิกกลับมาย่อตัวลง

เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ ทั้ง ข้อมูลตลาดแรงงาน (รับรู้ราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) และ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (รับรู้ราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) เนื่องจาก หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ พลิกกลับมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 2.5 แสนราย พร้อมกับอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่สูงกว่า +4.0%y/y (หรือ +0.4%m/m ขึ้นไป) ส่วน ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ก็อาจยังอยู่ในระดับสูงกว่า 52 จุด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ไม่ยาก ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (เงินบาทต้องอ่อนค่าผ่านโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ให้ได้ก่อน)

ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวของสหรัฐ ออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาดเล็กน้อย ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวแถวโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และหากข้อมูลออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับถัดไป 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ได้บ้าง

“เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”