น่าจะเป็นดีลควบรวมธุรกิจที่กลายเป็น “หนังยาว” ที่ใกล้จะถึงตอนจบเต็มแก่แล้ว สำหรับ กรณี การควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) หรือดีแทค ที่ลากยาวมาเกือบ 1 ปี แล้ว

เมื่อทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้กำหนด “วันชี้ชะตา” ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. วาระพิเศษ เพื่อลงมติ ดีลควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค ในวันที่ 20  ต.ค.นี้ 

หลังจากที่เป็น “โรคเลื่อน” ขยายเวลาการลงมติ ยังไม่ได้ข้อสรุป ในการประชุมบอร์ดวาระปกติมาหลายครั้ง มีการถกเถียงถึงข้อมูลกฎหมายว่า “มีอำนาจ” หรือ “ไม่มีอำนาจ” ในการพิจารณาเรื่องนี้ รวมถึงผลศึกษาถึงผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจ ตลาดโทรคมนาคมและผู้บริโภค

จนถึงการประชุมบอร์ดครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำเอาหลายฝ่ายทั้ง “กองเชียร์” และ  “คัดค้าน” ที่ตั้งตาลุ้น รอผลสรุป ก็ต้อง “เก้อ” เมื่อที่ประชุมบอร์ดยัง “ไม่ฟันธง” ขอยื้อเวลา “ถกเถียง” เป็นการประชุมนัดพิเศษ

เพราะต้องรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศที่ได้ว่าจ้างเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะส่งมาให้สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งต้องนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อความรอบคอบ ในข้อมูลทุกๆ ด้าน

แต่ก็มีคำถามจากสังคมว่า ในการประชุมนัดพิเศษวันนี้ 20 ต.ค.ที่จะถึงนี้จะได้ข้อยุติหรือไม่?  ซึ่งเมื่อดูจากท่าทีของ สำนักงาน กสทช.  ก็มีแนวโน้มว่า น่าจะได้ข้อยุติ?  โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. คาดว่าจะได้ข้อยุติเรื่องนี้ในวันดังกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. และอดีต กสทช.ที่ระบุว่า คงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเลื่อนการลงมติอีกแล้ว !?!

เมื่อทางเอกชนก็ส่งหนังสือเร่งรัดมาทาง กสทช.เพราะล่วงเลยเวลาตั้งแต่ยื่นเรื่องมา 9 เดือนแล้ว ขณะที่ข้อมูลต่างๆ ก็ครบถ้วนแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงด้านกฎหมายที่ได้ข้อสรุปจาก ศาลปกครอง และ คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คงไม่มีจากหน่วยงานไหนอีกแล้ว และ รายงานผลการศึกษาต่างๆ จากที่ปรึกษาต่างประเทศฉบับเต็มก็ส่งมาแล้ว เมื่อข้อมูลและข้อเท็จจริงครบถ้วน จึงไม่มีเหตุที่จะไม่จบ!!

ถ้ายังหาเหตุที่จะไม่ลงมติอีก ก็อาจจะเป็นปัญหา หรือ ข้อกังขา ได้ จึงเชื่อว่า บอร์ด กสทช.จะมีการลงมติ ออกมาทางใดก็ทางหนึ่ง?!? แต่จะออกทางไหน ก็คงเป็นเรื่อง การใช้ คุลพินิจของบอร์ดแต่ละท่าน!!

ภาพ pixabay.com

ส่วนแนวทางในการประชุมวันที่ 20 ต.ค. จะมีขั้นตอนอย่างไรนั้น ทาง นพ.ประวิทย์  บอกว่า ในการประชุมวันนั้น มีแต่เรื่องควบรวมวาระเดียว จึงสามารถถกกันได้เต็มที่ คาดว่าจะใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือ อาจทั้งวัน??

โดยมีแนวทางตั้งแต่การเริ่มการประชุมนั้น ทางบอร์ด กสทช. จะพิจารณา อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งหากบอร์ดเห็นว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ ตามประกาศ กสทช. ปี 61 ก็เป็นแค่รับทราบการควบรวม แนวโน้มก็อนุญาตไฟเขียวให้ควบรวม แต่อาจจะกำหนดมาตรการเฉพาะออกมาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อตลาดและผู้บริโภค

 แต่ถ้ามีมติว่ามีอำนาจพิจารณาตามกฎหมาย ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะอนุญาต หรือไม่อนุญาต ซึ่งหากอนุญาต ก็ต้องมาดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สามารถบรรเทาได้ด้วยมาตราการต่างๆได้หรือไม่ หากเห็นว่าผลกระทบน้อยเป็นประโยชน์มากกว่า ก็อาจจะอนุญาตแบบมีเงื่อนไข!!  

แต่หากใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่ามาตราการที่กำหนดไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ก็อาจจะไม่อนุญาตให้ควบรวม!!

 ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดมาตรการต่างๆ 14 ข้อ ที่ สำนักงานฯ เสนอต่อบอร์ดว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งหากทางบอร์ดเห็นว่า มาตรการต่างๆ ไม่เพียงพอ ก็ยังมีอำนาจที่จะเสนอมาตรการเพิ่ม  เมื่อเห็นว่าเพียงพอแล้ว ก็อาจจะอนุญาต แต่หากเห็นว่ามาตรการยังไม่เพียงพอมีผลกระทบต่อสาธาณะ ก็อาจจะไม่อนุญาต!! ทั้งหมดจึงอยู่ที่ ดุลพินิจของบอร์ดแต่ละท่าน!?!

อย่างไรก็ตาม อดีต กสทช. ยอมรับว่า การตัดสินของ กรรมการ กสทช. ครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์การแข่งขันตลาดมือถือของไทย และเป็นเรื่องกดดันต่อบอร์ดในระดับหนึ่ง

ภาพ pixabay.com

แต่สิ่งที่กดดันมากกว่า  คือ เรื่องคดีที่จะตามมา เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะ เรื่องนี้ มีทั้ง “ฝ่ายเชียร์” และ “ฝ่ายค้าน” ตัดสินไปทางไหน ก็คงต้องมีฝ่ายไม่ถูกใจกับผลที่ออกมา!!

“สมมุติในกรณี กสทช. เห็นว่าตนเองมีอำนาจในเรื่องนี้  แต่ฝั่งที่เห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ ก็อาจไปฟ้องว่า กสทช.ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ ในทางกลับกัน หาก กสทช.เห็นว่าตนเองไม่มีอำนาจตัดสิน ทางฝั่งที่เห็นว่า กสทช. มีอำนาจ ก็อาจฟ้อง กสทช. ละเว้น การปฎิบัติหน้าที่ได้ จึงเป็นเหตุให้บอร์ดแต่ละท่านต้องละเอียดรอบครอบ ศึกษารายงานต่างๆ อย่างครบถ้วนก่อนลงมติไป เพื่อใช้ยืนยันในชั้นศาลได้” นพ.ประวิทย์ สรุปทิ้งท้าย

สำหรับการลงมติของบอร์ด กสทช.จะต้องใช้คะแนนเสียงข้างมาก มีคะแนน 3 ใน 5 เสียงขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่า การหลากยาวมาถึงตอนนี้โอกาสจะมีมติเอกฉันท์ หรือไปในทิศทางเดียวกันคงไม่เกิดขึ้น โดยแหล่งข่าวจาก กสทช. ให้ข้อมูลว่า เสียงของบอร์ด กสทช. อาจจะออกมา 3 ต่อ 2 โดยมีบอร์ดหนึ่งท่านที่เป็นตัวแปร!?!

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงธุรกิจก็คาดว่าการณ์ สรุปสุดท้ายแล้ว อาจจะมีมติอนุญาตให้ควบรวม แต่จะมีมาตรการเงื่อนไขเฉพาะออกมาอย่างเข้มงวดมากกว่า 14 ข้อ ที่เคยเป็นข่าวไปแล้ว รวมถึงการออกประกาศต่างๆตามมาในอนาคต ตามอำนาจของ กสทช. เพื่อไม่ให้เกิดผลกรทบต่อตลาดโทรคมนาคมและผู้บริโภค!!

เพราะหากไม่อนุญาตให้ควบรวม มองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และการลงทุนของเอกชนได้ เพราะการควบรวมธุรกิจเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ และเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก!?!

อย่างไรก็ตามผลที่ออกมาไม่ว่าออกทางฝั่งไหน ก็คงต้องมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้ศาลเป็นคนตัดสินตาม “หลักนิติธรรม”

วันที่ 20 ต.ค.  ต้องติดตามกันว่าการลงมติของ บอร์ด กสทช.จะออกไปทางไหน!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์