หลังจากเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยาชำนาญการ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ได้นำทีมงานร่วมขุด “ซากวาฬ” ในเนื้อที่ 400 ไร่ ของ บจก.ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หมู่ 5 บ้านคลองหลวง ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงปลายปี 2563 พบว่าเป็น ซากวาฬที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกถึง 90% มีความกว้าง 1.5 เมตร ยาว 12.5 เมตร จึงบ่งบอกได้ว่าดินแดนบริเวณพื้นที่นี้ เมื่อ 2,000-8,000 ปีที่แล้ว เคยเป็นทะเลมาก่อน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้จึงเก็บซากวาฬ ที่ขุดเจอ ห่อหุ้มทั้งหมดด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ และเข้าเฝือกอย่างดี ขนย้ายไปยัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ คลอง 5 จ.ปทุมธานี ระดมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันทำความสะอาดซ่อมแซมซากวาฬ เคลือบน้ำยาเคมีต่อประกอบให้เข้ารูปร่าง จนเสร็จสมบูรณ์ ชาวบ้านเลยเรียกชื่อว่า “วาฬอำแพง”

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่อง ให้ซากดึกดำบรรพ์เป็น “ซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน” ลงนามโดย นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และข้อ 4 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ. 2552

แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ประกาศให้ซากดึกดำบรรพ์ของวาฬ “บาลีนอพเทอรา อีดีไน” (Balaenoptera edeni) ชื่อสามัญ Bryde’s whale (วาฬบรูด้า) อายุ โฮโลซีนตอนปลาย 3,380 ± 30 ปี จำนวน 141 ชิ้นตัวอย่าง

โดยมีสถานที่พบ คือ บ้านคลองหลวง ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่ง นายจิตติ วัฒนสินธุ์ ค้นพบเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 เจ้าของ/หรือผู้ครอบครอง บริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มอบให้กับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปศึกษาวิจัย โดยเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป.