นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 5/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ zoom cloud meeting ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามโครงการ ดังนี้ 1.คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้สนับสนุนการดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ (Aqua Feed & Ornamental Fish Industry : AFOF) และมอบหมายกรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมพิจารณาหารือในการสนับสนุนงบประมาณหรือการลงทุนจากภาคเอกชนโครงการนี้ 2.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการใช้ประโยชน์เรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว โดยมอบหมายกรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ จัดประชุมหารือในความร่วมมือกับตัวแทนองค์กรประมง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางออกใบอนุญาตทะเบียนเรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว สามารถประกอบการทั้งประเภทท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น ๆ เช่น การดูปลาวาฬบรูด้า และการดำน้ำเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวประมง ได้แก่ 1.ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ระยะที่ 2 โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงดำเนินการ สำหรับวงเงินสินเชื่อแบ่งเป็น (1.1) ธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท (1.2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการด้านสินเชื่อ ระยะที่ 2 ซึ่งมีอธิบดีกรมประมง เป็นประธาน จะมีการประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืม ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 จากนั้นหน่วยงานในพื้นที่จะทำการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวประมงมายื่นความประสงค์ขอกู้ยืม ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยพี่น้องชาวประมงจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมอบกรมประมงเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว เพื่อเป็นสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ

2.ความก้าวหน้าการดำเนินงานคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ. ….ซึ่งกรมประมงได้มีการปรับปรุงร่างดังกล่าว และได้จัดทำหน้งสือเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป  3. รับทราบโครงการน้ำมันเพื่อการประมง เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพาณิชย์และพื้นบ้านในการลดต้นทุนกการประกอบอาชีพประมง 4.ความคืบหน้าโครงการนำเรืออกนอกระบบ โดยวิธีบริหารจัดการแบบใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า 5.ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การส่งเสริมการปลูกป่าโกงกาง การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล การเพิ่มหญ้าทะเลที่เป็นอาหารสัตว์น้ำ 6.การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาการประมงโดยเฉพาะในท้องที่ติดชายฝั่งทะเลและท้องที่ที่มีประมงเพาะเลี้ยง 7.การพัฒนาประมงท่องเที่ยวโดยใช้ท่าเรือประมงที่เป็นของกรมประมง และการพัฒนาระบบตลาดสัตว์น้ำเพื่อสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาท่าเทียบเรือและแพปลาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากคลองระบายน้ำ เช่น กรณีหมู่บ้านประมงโตนดน้อย ตำบลหนองขนาน จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้คำสั่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน (1.1) ความก้าวหน้าโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตการประมง และได้สนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มและขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น สมาชิกจำนวน 106,108 ราย จำนวน 2,820 องค์กร (1.2) ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ จำนวน 200 ชุมชน ชุมชนละ 100,000 บาท งบประมาณ 20,000,000 บาท กระจายสู่ 50 จังหวัด เป็นพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด และ 28 พื้นที่จังหวัดแหล่งน้ำจืด (2) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้ำไทย (3) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (4) คณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ (5) คณะทำงานโครงการ Fisherman’s Village Resort และ (6) คณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค