เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 30 พ.ย. ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันปล่อยแถวเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด หรือ ปฏิบัติการ “Electrical Shock”  โดยมี พ.ต.ท.เฉลิมชนม์ อุณหเสรี รองผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ รักษาการ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายชวภณ สินพูนภักดิ์ ผอ.ส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 2 สนธิกำลังร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล 41 จุด ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท 

สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องเรียนการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี มีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิตคอยน์โดยผิดกฎหมาย มีการนำเครื่องมือที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์มาจากต่างประเทศ และมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย นายไตรยฤทธิ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสืบสวน โดยมีการประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งกรมศุลกากร จนพบจุดต้องสงสัยจำนวนมากกระจายตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ดังกล่าวจะใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีการลักลอบต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ อันเป็นการลักกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฐานความผิดซึ่งกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้ดำเนินการสืบสวนจนพบกลุ่มนายทุนที่มีพฤติการณ์จัดหาอาคารพาณิชย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กว่า 41 แห่ง โดยเช่าไว้เพื่อใช้เป็นจุดวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล ซึ่งแต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล จุดละประมาณ 100 เครื่อง มีการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคาร โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟทำให้เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 500,000 บาทต่อแห่ง แต่มีการจ่ายค่าไฟจริงเพียงแห่งละประมาณ 300-2,000 บาทเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละเกือบ 300 ล้านบาท  

กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาเพื่อเข้าค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัย จำนวน 41 แห่ง เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานการลักไฟฟ้า เพื่อกล่าวโทษดำเนินคดีอาญา และร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยึดเครื่องขุดเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท ไว้เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบกับกรมศุลกากรว่ามีการนำเข้าราชอาณาจักรไทย โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษก็จะได้รับคดีดังกล่าวไว้ทำการสอบสวนต่อไป

นอกจากนี้ จากการสืบสวนขยายผลยังพบว่า ปัจจุบันมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อทำเหมืองขุดเงินดิจิทัลจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการนำเข้าเครื่องขุดเงินดิจิทัลมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาติดตั้งในอาคารพาณิชย์ที่มีค่าเช่าในราคาไม่สูงนัก จากนั้นจะทำการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคาร เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการขุดเงินสกุลดิจิทัล แล้วปล่อยให้เครื่องขุดเปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้พักอาศัยในอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังทำให้เกิดความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากเหมืองขุดเงินสกุลดิจิทัลมีการใช้ไฟฟ้าสูงเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน จึงทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งเป็นการใช้อาคารพาณิชย์ผิดประเภท โดยในประเด็นนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการขยายผลต่อไป

ด้าน นายไตรยฤทธิ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าตัวอาคารแห่งนี้มีการต่อไฟตรงเข้าอาคารโดยการซ่อนใต้ฝ้าอาคาร และเมื่อสอบถามเขาก็บอกว่าชาวบ้านทำกันเอง แต่อย่างไรเราก็ต้องตรวจสอบดูว่าการลอบต่อไฟตรงเข้าอาคาร มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ โดยวันนี้ก็ได้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาร่วมตรวจสถานที่และเก็บหลักฐาน ส่วนการสืบสวนขยายผล เราได้ดำเนินการไว้แล้วก่อนหน้านี้ จึงพบว่ามีนายทุนอยู่เบื้องหลัง เบื้องต้นเป็นคนไทย แต่ก็มีผู้ร่วมขบวนการอื่นๆอีก ทั้งนี้ ถ้าเป็นธุรกิจสีเทาหรือมีความเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจต่างชาติ เราก็จะดำเนินการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน

สำหรับการเข้าตรวจจุดแรก (บ้านสีเขียว) นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า บ้านหลังคือบ้านที่ถือกุญแจ แต่ข้างในมีจำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ไม่เยอะมาก มีประมาณ 30 เครื่อง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเรื่องค่าไฟ จริงๆแล้วบ้านหลังต้องเสียค่าไฟฟ้าเป็นหมื่น/เดือน แต่เสียจริงแค่หลักร้อยบาท อย่างไรก็ตาม บ้านหลังนี้เป็นแค่จุดแรก ยังมีอีกหลายจุดที่เราต้องไปตรวจสอบ และทั้ง 41 แห่งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นนายทุนคนเดียวกัน 

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของอาคารพาณิชย์หรือผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ช่วยกันสังเกตบริเวณโดยรอบ หากพบสถานที่ต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าจะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการสืบสวนขยายผลต่อไป