นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ และเครือข่ายพันธมิตรพิพิธภัณฑ์จากทั่วประเทศ ยังพร้อมใจเปิดให้เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าคืน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม” โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ไทยร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรม สร้างวัฒนธรรมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม ให้เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศด้วยทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผ่านงานพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของไทย

พิพิธภัณฑ์ยามคํ่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรม วังหน้าและความเป็นมาแห่งอารยธรรมไทย จัดแสดงนิทรรศการถาวรปรับปรุงใหม่ภายในพระที่นั่งต่าง ๆ ชมงานประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน และนิทรรศการประวัติศาสตร์และโบราณคดี ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ

นิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร กล่าวถึงการเปิดพิพิธภัณฑ์ในยามคํ่า พาสัมผัสอีกบรรยากาศเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯ ชมความงดงามของโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของพระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า การกลับมาของพิพิธภัณฑ์ในยามคํ่าครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 16-18 ธันวาคม

จากที่กล่าวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้เที่ยวชมพร้อมกับแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์เครือข่ายทั่วประเทศ การกลับมาอีกครั้งของพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าครั้งนี้ จะเริ่มขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ประมาณ 20 แห่งที่เข้าร่วม ทำงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศซึ่งครั้งนี้ร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

“เทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในยามคํ่าคืน จัดต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี นอกจากเที่ยวชมบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าจากที่นี่ โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์มีหน่วยงานเข้าร่วมทั้ง มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์
เหรียญกษาปณานุรักษ์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งจะเริ่มกิจกรรมขึ้นพร้อมกัน
เปิดให้ชมนับตั้งแต่เวลาสี่โมงเย็นเป็นต้นไป ส่วนการปิดขึ้นอยู่กับแต่ละพิพิธภัณฑ์”

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร ขยายความเพิ่มอีกว่า การเปิดพิพิธภัณฑ์ยามคํ่า นอกจากเพื่อการเรียนรู้ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ การเปิดให้เข้าชมที่นอกเหนือจากเวลาปกติยังเป็นอีกส่วนสำคัญ สร้างการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ เปิดโอกาสท่องเที่ยวเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ตามอัธยาศัย ทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายงานพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และชุมชนรอบเกาะ เชื่อมโยงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วิถีชีวิตชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ขึ้นในชุมชน

“การเปิดพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าครั้งนี้ยังเป็นการเปิดตัวหลังจากการปรับปรุงภายในพระที่นั่งต่าง ๆ เชิญชวนนักท่องเที่ยวชมการจัดแสดงนิทรรศการโฉมใหม่ที่มีความทันสมัย พร้อมกับการชมความงดงามของโบราณสถาน อาคารพระที่นั่งที่สร้างขึ้นนับแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเป็นอีกโอกาสดีสำหรับการเข้าชม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม เรียนรู้ศิลปกรรม งานประณีตศิลป์ฯลฯ พร้อมไปกับบรรยากาศยามเย็น ผ่านแสงไฟที่ประดับสว่างไสว บอกเล่าเรื่องโบราณสถานให้โดดเด่นยิ่งขึ้น”

หนึ่งในนิทรรศการไฮไลต์ “ประณีตศิลป์สยาม” ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล นิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก ศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนหนึ่งพาชมงานประณีตศิลป์ โดยจากเส้นทางนำชมพิพิธภัณฑ์ฯ ให้ข้อมูลดังเช่น พระที่นั่งทักษิณาภิมุข ด้านในจัดแสดงนาฏดุริยางค์ เครื่องมหรสพและการละเล่น ซึ่งการแสดงนาฏศิลป์ของราชสํานักไทย หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “มหรสพหลวง” หรือ “การละเล่นของหลวง” จําแนกออกตามลักษณะการแสดง เช่น โขน หุ่น หนังใหญ่ ระเบง โมงครุ่ม และกุลาตีไม้ โดยใช้แสดงในงานสมโภช ทั้งในงานพระราชพิธี หรือมหกรรมการรื่นเริง

พระที่นั่งวสันตพิมาน ห้องพระวิมานที่ประทับ (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องพระตําหนัก เครื่องเรือนที่ประทับ และเครื่องประณีตศิลป์ต่าง ๆ โบราณวัตถุชิ้นสําคัญ คือ พระแท่นบรรทม ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 พระแท่นทรงศีลของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และพระแท่นขาสิงห์ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

สำหรับชั้นล่าง ห้องเครื่องถ้วยในราชสํานัก ภาชนะเครื่องถ้วยในสํารับอาหารของราชสํานักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เครื่องเบญจรงค์ ลายน้ําทอง ซึ่งเครื่องถ้วยเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราชสํานักและชาวสยาม เครื่องถ้วยประเภทนี้เรียกอีกอย่างว่าเครื่องถ้วย “ให้อย่าง” ด้วยราชสํานักสยามเป็นผู้ให้ตัวอย่างในการสั่งผลิตและนําเข้าจากประเทศจีน

หากเดินต่อไปที่ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ โดยเครื่องสัปคับ หรือที่นั่งบนหลังช้าง มีลักษณะคล้ายตั่งผูกติดบนหลังช้าง ใช้สําหรับนั่ง บรรทุกสัมภาระ เพื่อการเดินทางในภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบและป่าเขา โดยสัปคับนอกจากจะใช้ในการเดินทางยังใช้ในการศึก และการพระราชพิธีสําคัญต่าง ๆ รวมถึงใช้ในการต้อนรับราชอาคันตุกะและใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการ สัปคับจึงถือเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างหนึ่งที่มีการสร้างสรรค์ประดับตกแต่งด้วยฝีมือช่างอันประณีต และมีลวดลายที่แตกต่างกันไปตามฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้งาน

มุขเด็จตะวันตก ด้านในจัดแสดง เครื่องไม้จําหลัก งานประณีตศิลป์ไทยประเพณีแขนงหนึ่งที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากไม้เป็นวัตถุดิบที่อยู่แวดล้อมสังคมไทย จึงนิยมนํามาใช้ในการสร้างสิ่งของต่าง ๆ ทั้งเครื่องใช้ในชีวิตประจําวัน เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม เครื่องไม้จําหลักในศาสนา และเครื่องราชูปโภค ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาและการสั่งสมฝีมือของช่างจําหลักไม้ที่สามารถถ่ายทอดความวิจิตรของลวดลายลงบนชิ้นไม้จนเกิดความงดงามอย่างเหมาะสม

นอกจากชมงานประณีตศิลป์ในหมู่พระวิมาน หากสนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดี สามารถเข้าชมนิทรรศการ ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท อาคารที่สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2506 ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล

ด้านในอาคารจัดแสดงศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่พบบนผืนแผ่นดินไทย นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศักราช 1900 อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ จนถึงยุคที่รับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะอินเดีย ได้แก่ ห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศรีวิชัยชวา อีกทั้งมี นิทรรศการศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง ฉายวีดิทัศน์ดิจิทัลเสมือนจริง จัดแสดงพุทธศิลป์ของไทยและเกาหลีให้ชมร่วมด้วย

อีกอาคาร ประพาสพิพิธภัณฑ์ อาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประยุกต์สองชั้น ตั้งอยู่ทิศเหนือด้านหมู่พระวิมาน โดยที่ผ่านมาได้ดําเนินงานบูรณะเสร็จสมบูรณ์และจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคารฯ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นําเสนอเรื่องราวจากหลักฐานโบราณคดีแต่ละสมัย โดยการเปิดพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าครั้งนี้มีวิทยากรนำชม บอกเล่าความงดงามโบราณสถาน งานประณีตศิลป์…

สัมผัสบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ยามคํ่าคืนที่มีมนต์เสน่ห์ ส่งต่อการเรียนรู้ เข้าถึงพิพิธภัณฑ์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ