เรียกได้ว่าเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง” ที่จะต้องจับตามองกับแบบห้ามกะพริบตาเลยก็ว่าได้ สำหรับเกมการเมืองและการเลือกตั้งในห้วงเวลานับจากนี้…

โดยมูฟเมนต์สำคัญทางการเมืองในขณะนี้ หนีไม่พ้นความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งมีท่าทีเตรียมตัว “มูฟออน” ออกจาก พรรคพลังประชารัฐ แยกทาง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค เพื่อเข้าสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และหัวหน้าพรรค “แบะท่า” รอต้อนรับอยู่แล้ว ภายใต้ยุทธศาตร์ในการสร้าง “นั่งร้านอำนาจใหม่”  เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

หลังจากมีกระแสข่าวหนาหูว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” ได้เข้าพบ “บิ๊กป้อม” ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมีการพูดคุยเปิดใจและหารือถึงทิศทางการเมืองในอนาคต โดยสรุปใจความได้ว่า “บิ๊กตู่” ได้ลา “บิ๊กป้อม” เพื่อไปทำงานการเมืองกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งภายหลังจากจบการพูดคุยกัน  “บิ๊กป้อม” ได้โทรศัพท์สอบถามแกนนำแต่ละกลุ่มว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐแล้ว จะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อหรือไม่ ขณะที่ฟากฝั่งของ “บิ๊กตู่” ก็มีการเช็กไพร่พลฝ่ายตัวเองเช่นเดียวกัน โดยอาศัย “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นคนไล่เช็กชื่อ ส.ส.ในกลุ่ม ที่พร้อมจะย้ายสำมะโนครัวตาม “บิ๊กตู่” ไปสังกัดพรรคใหม่

ส่วน ส.ส. ที่มีแนวโน้มออกไปร่วมสร้างดาวดวงใหม่กับ “บิ๊กตู่” ประกอบด้วย ส.ส. ในกลุ่ม “ทีมเสี่ยเฮ้ง” จำนวนหนึ่ง และยังมี ส.ส. จำนวนหนึ่ง ที่อาจจะตัดสินใจ หลัง “บิ๊กตู่” มีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ในกลุ่มเพชรบูรณ์ ภายใต้การนำของ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง ส.ส. กลุ่มสามมิตร ที่นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่พูดชัดว่ากำลังรอดู ฝน ฟ้า อากาศ

งานนี้ “บิ๊กตู่” ก็ไม่มีท่าทีปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว และเมื่อถูกถามถึงการย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ได้คำตอบเป็นนัยว่า “กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะว่ากันตามตรงแล้ว ตอนนี้ “บิ๊กตู่” ยังใช้พรรคพลังประชารัฐ เป็นนั่งร้านอำนาจค้ำบัลลังก์นายกฯ อยู่ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรีบประกาศไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ในเร็ววันนี้

โดยหลังจากนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ กันต่อไปว่า จะฝุ่นตลบมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องมีการลำหักลำโค่นกันอีกคำรบหนึ่ง ในศึกชิง “เก้าอี้เลขาธิการพรรค” ซึ่งมีทั้งคนเก่า คนใหม่ และคนที่กำลังจะเข้ามาใหม่ในอนาคต ที่ต่างก็คงอยากเป็น “กุนซือสำคัญ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากนั้น ยังต้องมีการเกลี่ยตัวผู้สมัคร ส.ส. ในหลายพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกันของแต่ละกลุ่มก๊วน ซึ่งเมื่อสแกนโครงสร้างของ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะเห็นได้ชัดว่า มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในภาคใต้ พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกบางส่วน รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่สามารถทะลวงพื้นที่ภาคอีสาน ที่เป็นพื้นที่สัดส่วนฐานเสียงใหญ่ที่สุดได้เลย ดังนั้นยุทธศาสตร์ของพรรครวมไทยสร้างชาติหลังจากนี้ หากเดินเกมภายใต้โจทย์ทะลวงฐานเสียงอีสานได้ ความฝันที่จะสร้างดาวดวงใหม่ของ “บิ๊กตู่” ก็จะเป็นฝันที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น

อาจจะพูดได้ว่า ความเคลื่อนไหวทุกอย่างของพรรครวมไทยสร้างชาติจะดูน่าตื่นเต้น แต่ก็เป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” แม้จะมีการส่งสัญญาณว่า “บิ๊กตู่” จะมีการปรับลุคเปลี่ยนภาพลักษณ์ แบบ 360 องศา ให้เป็น “นิวลุงตู่” ในสายตาของประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าภาพลักษณ์ คงจะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดแบบ คิดใหม่-ทำใหม่ เพื่อให้ทันกับกระแสแลนด์สไลด์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ชูคนหน้าใหม่ทางการเมือง และชูความเฉียบคมในเรื่องนโยบายในการหาเสียงที่จะต้องตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาฝังรากลึกของประเทศให้ได้ ถ้ายังอยากไปต่อบนเส้นทางการเมือง หาก “บิ๊กตู่” อยากจะสร้างดาวดวงใหม่ให้สำเร็จ ก็ควรจะนึกถึงประชาชนคนส่วนใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้าเป็นหลัก

แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายนั่งร้านอำนาจของ “บิ๊กตู่” ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ความสำเร็จจะรออยู่เบื้องหน้า เพราะเส้นทางการเมืองภายภาคหน้า ยังคงเต็มไปด้วยขวากหนาม และความร้อนแรงทางการเมือง!

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กุมบังเหียนอยู่ ก็กลับเข้าสู่สถานการณ์ระส่ำระสายกันอีกครั้ง จากกระแสข่าวการแยกทางกับ “บิ๊กตู่” แถมยังเจอแรงเสียดทานรอบใหม่ หลัง “ก๊วนธรรมนัส” ที่นำโดย รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค และ ส.ส.เศรษฐกิจไทย 13 คน เตรียมเก็บประเป๋ากลับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมประกาศหนุน “บิ๊กป้อม” ขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งก็ทำเอา ส.ส. หลายมุ้งเริ่มออกอาการกังวลไปตามๆ กัน เพราะมองว่าการกลับเข้ามาของ “ก๊วนธรรมนัส” จะทำให้การหาเสียงยากยิ่งขึ้น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีของ “ผู้กองธรรมนัส” จนถึงขั้นเริ่มมีกระแสข่าวว่า มี ส.ส. อีกหลายคนเตรียมทิ้งพรรคด้วยเหตุผลดังกล่าว

งานนี้ก็ต้องรอดูว่า “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จะมีแผนแก้เกมการเมืองฝุ่นตลบภายในพรรคพลังประชารัฐจุดนี้ได้อย่างไร

และนอกจาก “พี่ป้อม-น้องตู่” แล้ว ความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กลับประกาศปิดตำนาน 3 ป. ด้วยการวางมือทางการเมือง โดยล่าสุดบอกว่า “ผมก็เป็นคนแก่คนหนึ่งที่อยากบอกท่านว่า ผมก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับท่านนั่นแหละ ผมก็อยู่เชียร์ท่านอีกไม่กี่เดือน… ท่านมีจิตใจที่จะทำงานเพื่อสังคม แต่ไฟผมหมดแล้ว ให้ท่านทำไป ผมเป็นกำลังใจให้แล้ว จะทำในส่วนที่ทำได้”

ทั้งหมดทั้งมวล คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้ว การแยกทางกันของ “พี่ป้อม-น้องตู่” ยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นการแยกกันเดินรวมกันตี หรือ แยกกันเดินแล้วตีกันเอง! หากงานนี้หาก “พี่ป้อม-น้องตู่” ยังคงออกอาการคาราคาซัง ตกลงหมุดหมายนี้ไม่ได้ ก็คงจะเจอเกมแลนด์สไลด์ของฝ่ายตรงข้ามถล่มทับอย่างแน่นอน ท้ายสุดอาจจะเหลือแค่ “ป.ป้อม” ซึ่งอาจจะเดินเกม “พลิกขั้ว” หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่หรือไม่ หรือเส้นทางการเมืองไทยหลังจากนี้ อาจจะไม่เหลือสัก ป. เลยก็เป็นได้!

ปรับโฟกัสมาที่ทิศทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งล่าสุดมีการส่งสัญญาณภายในพรรคร่วมรัฐบาล ชัดว่า มีแนวทางที่รัฐบาลจะอยู่ลากยาวจนถึงเดือน มี.ค. 2566 โดยมีหมุดหมายสำคัญในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นวันครบวาระของรัฐบาล ดังนั้นอาจจะมีการยุบสภาก่อนวันครบวาระเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิด “เซฟโซนทางการเมือง” สำหรับทุกฝ่าย

แต่ขณะเดียวกันยังมีปมร้อนในสภาที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่จ่อคิวเข้าพิจารณาในสภา ที่ถือเป็นประเด็นร้อนระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาประกาศชัดว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เดินมาถึงจุดนี้แล้ว หากสุดท้ายไม่ผ่าน พรรคภูมิใจไทยพร้อมหาเสียงเรื่องนี้ต่อ ใครอยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็เลือกพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยจะไม่เอาคืนพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคใดก็ตาม ที่โหวตไม่เอาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า สงครามน้ำลายระหว่าง 2 พรรค ที่เกิดขึ้นอย่างดุเดือดในช่วงที่ผ่านมานั้น จะจบลงแบบไม่เอาคืนได้จริงหรือไม่!

นอกจากนั้น ยังจะต้องจับตาการวินิจฉัย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ย. นี้ โดยต้องรอดูว่า ผลจากการพลิกเกมกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบ หาร 100 จากสูตรหาร 500 นั้น จะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้หรือไม่

ทั้งนี้ ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนชี้ชะตาสถานการณ์การเมืองไทยหลังจากนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.