เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับและหารือแนวทางการขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการจัดการน้ำเสีย ร่วมกับคณะผู้แทนบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ประกอบด้วย น.ส.เจน หยวน ซู่ ผู้จัดการระดับประเทศ (สาขาราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) นางสาวเฮเลน ฮาน เจ้าหน้าที่การลงทุนอาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติ นายจอห์น เลบเบอร์ เจ้าหน้าที่การลงทุนอาวุโส ด้านที่ปรึกษาการร่วมทุนกับภาคเอกชน (PPP) และนายธิติพงษ์ อักษรดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิบูลย์ วงสกุล ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย น.ส.อัจฉริยา อภัยวงค์ รองผู้ว่าการ(การเงิน) การประปาส่วนภูมิภาค นายอิสเรส เจนศุภการ รองผู้ว่าการบัญชีและการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร.ต.สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การต้อนรับ และร่วมหารือ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะผู้แทนบรรษัท IFC ที่ได้เดินทางมาร่วมหารือและนำข้อมูลการดำเนินงานมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย ในด้านการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งด้านการให้บริการไฟฟ้า โดยการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การให้บริการน้ำประปา โดยการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค และการจัดการน้ำเสีย โดยองค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งในปัจจุบัน ในด้านให้บริการน้ำประปา พี่น้องประชาชนจะรับภาระในการชำระค่าบริการน้ำประปาเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงค่าบริหารจัดการน้ำเสีย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลรับภาระในเรื่องดังกล่าวโดยงบประมาณกลางเพื่อบริหารจัดการ โดยในอนาคตหากบรรษัท IFC ร่วมให้การสนับสนุนในด้านดังกล่าว ครอบคลุมทั้งในแง่ของการบริหารจัดการน้ำระบบการกระจายน้ำ และท่อส่งน้ำ ย่อมเป็นโอกาสที่ดีที่พี่น้องประชาชนคนไทยจะได้รับการบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการบริหารจัดการน้ำเสีย ในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้วางกรอบแนวทางการบำบัดน้ำเสียไว้ 2 ส่วน ประกอบด้วย ระบบบำบัดน้ำเสียรวม และระบบบำบัดน้ำเสียย่อย ทั้งน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากภาคครัวเรือน ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับให้มีการปล่อยน้ำเสียที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ในส่วนน้ำเสียที่เกิดจากครัวเรือนจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป ซึ่งควบคุมได้ยากกว่า และน้ำเสียจากครัวเรือนมักจะมีไขมันและสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการประกอบอาหารและกิจกรรมต่างๆ ในครัวเรือน โดยได้มีการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่ครบทั้งวงจรตั้งแต่อ่างที่ใช้สำหรับล้าง ถังดักไขมันและสิ่งปฏิกูล และระบบบำบัดน้ำเสียจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งจะช่วยบำบัดคุณภาพน้ำในเบื้องต้นก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นำน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมต่อไป 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า การหารือในวันนี้ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำดีและน้ำเสียในภาพรวม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจที่จะ Change for Good เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ โดยมีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการรณรงค์ให้ใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การรณรงค์ให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรดิน เนื่องในวันดินโลกและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ สำหรับการใช้อุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต จะได้เกิดความร่วมมือการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติที่จะมาร่วมงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในชุมชนทั่วประเทศ อันเป็นการเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในทุกมิติอย่างยั่งยืน

น.ส.เจน หยวน ซู่ กล่าวว่า บรรษัท International Finance Corporation หรือ IFC เป็นหน่วยงานเอกชนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในเครือข่ายของกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ซึ่งให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของภาคเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทีสำคัญของประเทศ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของรัฐในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเตรียมการด้านการวางโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการจัดเตรียมเอกสาร และด้านการดำเนินโครงการร่วมทุนกับภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกของบรรษัท IFC ตั้งแต่ได้มีการก่อตั้ง

“การร่วมหารือกับกระทรวงมหาดไทยในวันนี้ ทำให้ได้รับทราบถึงภารกิจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ซึ่ง IFC จะได้นำความรู้และแนวทางที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ ในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมบทบาทและศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในอนาคตต่อไป” น.ส.เจน หยวน ซู่ กล่าว.