ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 20 ธ.ค. 65 กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ให้พิจารณา โดยมาตรการสำคัญที่เป็นตัวชูโรงของปีนี้ เป็นมาตรการช้อปดีมีคืน ที่เปิดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงวงเงินสูงสุด 40,000 บาท แบ่งเป็นวงเงินซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 30,000 บาท และเพิ่มเติมสำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อีก 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 66 รวมระยะเวลา 46 วัน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้ จะเป็นรายการสินค้าและบริการเหมือนปีที่ผ่านมา ยกเว้นค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ ค่าที่พักโรงแรม ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าเบี้ยประกัน โดยคาดจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้กว่า 8,200 ล้านบาท แต่ส่งผลดีให้เกิดเงินหมุนในระบบกว่า 56,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 0.1-0.2%

“สาเหตุที่ช้อปดีมีคืนจะเริ่มไม่ทันสิ้นปีนี้ เนื่องจากช่วงต้นปี 65 สรรพากรเคยออกมาตรการมาแล้วรอบหนึ่ง ทำให้ต้องยกยอดไปใช้ในปี 66 แต่ครั้งนี้นอกจากนำค่าใช้จ่ายซื้อของที่มีใบกำกับภาษีเป็นกระดาษมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ยังเพิ่มให้นำใบกำกับภาษีที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนได้อีก 10,000 บาท เพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสด อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่เฝ้าหวังอย่างคนละครึ่ง คาดว่าจะไม่มีแล้ว โดย รมว.คลัง ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจึงไม่จำเป็นต้องมีอีก อีกทั้งการทำครั้งก่อน ยังเป็นการนำงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดมาใช้”

ขณะที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มอบของขวัญด้วยการขยายมาตรการลดหย่อนหนี้ ต่ออีก 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 65 ไปสิ้นสุด 30 มิ.ย. 66  อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% เป็น 0.01% ต่อปีสำหรับผู้กู้ยืมที่ผ่อนดี และลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ รวมถึงลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ ยังลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับคนที่ปิดบัญชีด้วย 

ส่วนมาตรการอื่นที่คลังเสนอ เช่น การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ในประเทศเหลือลิตรละ 0.20 บาท จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค. 65 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และลดค่าครองชีพด้านการเดินทางแก่ประชาชน ขณะเดียวกันต้องจับตามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้มีรายได้น้อย บัตรคนจน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง รวมถึงส่งเสริมการจ้างงาน ขณะที่มาตรการของสถาบันการเงินรัฐ เช่น การให้รางวัลพิเศษสำหรับสลากออมสิน รวมถึงมอบของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระดี จะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี 500-1,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องติดตามลุ้นว่าคลังจะขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ ซึ่งมีการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% ออกไปด้วยหรือไม่