เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ น.ส.จุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณี นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้วางแผนหลบหนีขณะออกไปศาลอาญาระหว่างพิจารณาคดี โดยฉวยโอกาสในขณะที่ขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำ ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้มอบหมายให้ตนชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว พร้อมขออภัยที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้สั่งให้สอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการทุจริตหรือไม่ โดยจะใช้เวลาภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกับได้สั่งย้ายนายประสิทธิ์ ไปแยกขังที่เรือนจำกลางบางขวาง และเฝ้าจับตาตลอด 24 ชม. เนื่องจากเกรงว่านายประสิทธิ์อาจเกิดความเครียดจนทำร้ายตัวเอง รวมถึงได้สั่งงดเยี่ยม ทั้งนี้ยืนยันว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์กระทำทุจริตก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง พร้อมยอมรับว่าจะนำกรณีนี้ไปแก้ไขปรับปรุงต่อไปเพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต เผยอีกว่า ก่อนหน้านี้นายประสิทธิ์ได้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำกลางคลองเปรมไปขึ้นศาลเป็นประจำ จึงได้เห็นกระบวนการออกศาลทุกช่องทาง และคิดแหกหลบหนีมาตลอด แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบมาตลอด จนมาเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องขังแน่นอน

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ยังชี้ถึงข้อสังเกตว่า วันที่เกิดเหตุนั้น นายประสิทธิ์พูดกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์น้อยมากกว่าปกติ เพราะทุกๆ ครั้งนายประสิทธิ์จะพูดคุยเป็นประจำ จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่านายประสิทธิ์ อาจจะแอบอมลูกกุญแจที่ปลดออกจากพวงมาไว้ในปาก เพราะเมื่อสักครู่ ตนได้ลองดูการทดสอบการปลดพวงกุญแจ พบว่าสามารถใช้เวลาปลดลูกกุญแจออกจากพวงได้ไม่เกิน 20 วินาทีเท่านั้น ทั้งนี้ ตนยอมรับในเรื่องงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีจำกัด และกำลังคนในการดูแลผู้ต้องขังไม่เพียงพอจึงต้องมีผู้ช่วยผู้คุม (ซึ่งก็เป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาผ่านคุณสมบัติ) ส่วนประเด็นการตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังนั้น ในการนำตัวออกจากเรือนจำมีความเข้มข้นอยู่แล้ว หากแต่การนำตัวกลับมาคุมขังต่อนั้นจะเข้มข้นมากกว่า จึงไม่ได้มีการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขัง

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต เล่าถึงเหตุการณ์ที่นายประสิทธิ์ชิงหลบหนีระหว่างขั้นตอนศาล ว่า นายประสิทธ์อ้างว่ามีอาการปวดท้องหนักรุนแรง ทำให้หวั่นว่าอาจจะถ่ายหนักเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่เกิดความหวังดีจึงคุมตัวไปยังห้องน้ำที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้ ซึ่งตามปกติ เจ้าหน้าที่จะคุมตัวไปยังห้องน้ำบริเวณใต้ถุนศาล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะจดจำเครื่องแบบของผู้ต้องขังอยู่เสมอ แต่หลังจากนายประสิทธิ์ออกมาจากห้องน้ำกลับเปลี่ยนเสื้อผ้า สวมกางเกงยีนส์และสวมรองเท้าแตะ และเดินก้มหน้าออกมา เมื่อสอบถามแล้วนายประสิทธิ์ ก็ไม่มีการตอบรับ นิ่งเฉย และรีบเดินลงบันไดอย่างรวดเร็ว

เจ้าหน้าที่จึงรีบเข้าไปตรวจสอบในห้องน้ำแล้วไม่พบตัว พบแต่กองเสื้อผ้าผู้ต้องขัง จึงรีบประสานตำรวจศาลเข้าจับกุมและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ด้านล่างอาคาร แล้วไปพบนายประสิทธิ์ที่ชั้น 6 ก่อนมีการฉุดกระชากจนเสื้อขาด แล้วไปจับตัวได้ที่ชั้น 3 โดยตอนนี้ได้สอบปากคำผู้ช่วยผู้คุมและผู้คุม พร้อมค้นตัวผู้ต้องขังอีก 2 ราย โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุด้วย แต่ยืนยันได้ว่าผู้ให้การช่วยเหลือของนายประสิทธิ์นั้นเป็นบุคคลจากภายนอก เพราะภายในเรือนจำไม่มีการใช้เงิน

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวถึงกล่องเก็บกุญแจอุปกรณ์เครื่องพันธนาการ ว่า เป็นเพียงกล่องไม้เก่าธรรมดา และปกติมีกุญแจล็อก แต่ในวันเกิดเหตุกล่องได้เปิดไว้ จึงคาดว่านายประสิทธิ์สบโอกาสช่วงทีเผลอ เพราะในวันเกิดเหตุบริเวณใกล้ๆ กันจะมีผู้ช่วยผู้คุม (เป็นผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาผ่านคุณสมบัติ) ซึ่งขณะนี้กำลังถูกสอบสวนอยู่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งจะคอยดูแลนายประสิทธิ์ในพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่พัสดีได้ไปค้นตัวผู้ต้องขังสองรายแทน จากนั้นนายประสิทธิ์คงดำเนินการปลดกุญแจไขข้อเท้าออกจากพวงแล้วอมไว้ในปากก่อนถูกนำตัวไปที่ศาล

ส่วนจุดดังกล่าว (บริเวณกล่องเก็บกุญแจ) ไม่ได้มีกล้องวงจรปิดครอบคลุมถึงทำให้ไม่มีภาพบันทึกไว้ ทั้งนี้ วันดังกล่าวมีผู้ต้องขัง 3 ราย และผู้ต้องขังที่จะได้ปล่อยตัวอีก 3 ราย รวมเป็น 6 ราย ซึ่งการตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังจะต้องมีการตรวจค้นร่างกาย ประมาณคนละ 30 นาที สำหรับการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขังก่อนออกจากเรือนจำมีความสำคัญก็จริงแต่ว่าการที่ตรวจค้นร่างกายผู้ต้องขังภายหลังกลับมาจากสถานที่ข้างนอกนั้นจะมีความเข้มข้นมากกว่า ตรงนี้จึงเป็นช่องโหว่ได้

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต อธิบายถึงลักษณะของกุญแจเครื่องพันธนาการ ว่า เป็นกุญแจความมั่นคงสูงแบบ 2 ชั้น โดยจะต้องใช้ลูกกุญแจ 2 แบบ ทั้งแบบปกติ (กุญแจหลักนั้นมีความยาวประมาณ 2-3 ซม.) และลูกกุญแจเข็ม (ลักษณะคล้ายเลข 6) ซึ่งในการแทงสลักแม่กุญแจ จะต้องแทงเข็มสลักก่อนและค่อยหมุน และจากการเข้าทดลองตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบถอดกุญแจทั้ง 2 แบบออกจากพวงกุญแจ พบว่าทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20 วินาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้มาตรวจสอบพบว่า กุญแจเข็มสลักจาก 5 ดอก และกุญแจปกติ 4 ดอก ได้หายไปอย่างละ 1 ดอกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจยึดกุญแจที่หายไปทั้ง 2 ดอกคืนมาได้แล้ว

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ใจความสำคัญคือการต้องตรวจสอบดูว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้มีการให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ต้องขังหรือไม่ และนอกจากตรวจสอบคนในราชทัณฑ์แล้ว เราต้องไปตรวจสอบคนนอกที่อาจมีการซื้อคนในหรือไม่ ซึ่งก็คือคนที่เอาเสื้อผ้าไปซ่อนในห้องน้ำ

นอกจากนี้ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวอีกว่า วันนี้ตนได้ประสานไปยังฝ่ายฟอกเงินของดีเอสไอ เพื่อดูเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่ามีเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เพราะตนเล็งเห็นว่าในเรือนจำคงไม่มีการซื้อคนใน แม้ก่อนหน้านี้ นายอี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรมขอให้ตรวจสอบเรื่องจดหมายเปิดผนึกของนายประสิทธิ์นั้น

ทางกระทรวงยุติธรรมได้มีข้อสั่งการตรวจสอบไปแล้ว และหลังจากนั้นมาก็ไม่พบว่ามีจดหมายอีก และตนได้ตรวจสอบย้อนหลังจากนั้นไปอีก 230 กว่าฉบับ พบว่าเป็นเอกสารที่ออกไปได้โดยผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR CODE) ซึ่งเป็นจดหมายเปิดผนึก และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เห็นข้อความ เว้นแต่เป็นจดหมายปิดผนึกที่ร้องเรียนมายังหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ก็จะไม่เห็นข้อความในจดหมายได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบดูจดหมายทั้ง 230 ฉบับ ไม่ได้ปรากฏว่ามีสัญญาณที่ส่งไปถึงทีมงานนายประสิทธิ์ที่อยู่ภายนอก

ส่วนประเด็นที่ว่าชุดของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดคล้ายการใส่สูท ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ชี้แจงว่า ชุดของเจ้าหน้าที่ที่ใส่นั้นเป็นสีครีม และวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้สวมแจ็กเก็ตสีดำทับทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสูท พร้อมตอบข้อสงสัยที่ว่าขณะเกิดเหตุเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่เห็นว่ามีการหลบหนีนั้น ก็เพราะเจ้าหน้าที่ที่คุมตัวนายประสิทธิ์ไปห้องน้ำ จดจำเครื่องแบบนักโทษ แต่เมื่อนายประสิทธิ์ได้มีการเปลี่ยนเป็นชุดปกติทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทันได้สังเกต แต่เจ้าหน้าที่ก็เห็นว่าคนที่เดินออกไปมีความผิดปกติจึงสงสัยเข้าไปดูในห้องน้ำก็พบว่านายประสิทธิ์ไม่อยู่ จึงเข้าใจว่าชายคนดังกล่าวต้องเป็นนายประสิทธิ์แน่นอน จึงได้รีบเดินออกมาตามพร้อมตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ศาลให้ช่วยติดตามจนติดตามจับกุมตัวได้

หลังจากนี้ ทางหน่วยงานจะนำข้อผิดพลาดตรงนี้ไปปรับปรุงแก้ไข และระมัดระวังเคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นด้วย พร้อมยืนยันว่า จะไม่ยอมให้มีเจ้าหน้าที่ทุจริตต่อการทำงานอย่างแน่นอน หากพบว่าทุจริตก็จะลงโทษ ปลดออก ไล่ออกจากราชการ ซึ่งความหนักเบาของโทษก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุที่กระทำด้วย

เมื่อถามว่า นายประสิทธิ์ได้ใช้เวลาในห้องน้ำนานเท่าไรนั้น ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ระบุว่า ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด และเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้สังเกตว่าภายในห้องน้ำมีใครบ้าง เพราะถือเป็นการปลดธุระส่วนตัว แต่พอเอะใจจากความพิรุธของคนที่ออกจากห้องน้ำก็รีบเข้าตรวจสอบทันทีและรีบระงับเหตุ

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้หลักๆ ทางคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ต้องรอผลสรุปก่อน แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ปฏิเสธว่ารู้เห็นหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง ตนก็คงไม่เชื่อในคำชี้แจงทั้งหมด ก็ต้องตรวจสอบให้เกิดความสบายใจกับทุกส่วน ทั้งนี้ นายประสิทธิ์มีสภาะเครียดอย่างเห็นได้ชัดภายหลังเกิดเหตุถูกจับกุมตัวได้และถูกนำตัวมาที่เรือนจำกลางบางขวาง

อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ยังทิ้งท้ายด้วยว่า หลังจากนี้หากในชั้นศาลมีการสืบพยานจำเลย อาจจะขอร้องให้ดำเนินการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อที่จะไม่ต้องนำตัวผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำ เพื่อความสบายใจของทางสาธารณะและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย.