จากกรณีข่าวที่บนโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพกุ้งเผา ซึ่งมีไข่อย่างละสี โดยตัวหนึ่ง ไข่เป็นสีดำ กับอีกตัวหนึ่งเป็นสีส้ม พร้อมเผยข้อวามสุดสงสัย ระบุว่า “ไข่กุ้งตรงขาเป็นแบบนี้มันกินได้ไหม เรากินมาตลอด เป็นอะไรไหมอะ ทำไมไข่กุ้งคนละสี?”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาตอบคลายข้อสงสัยของกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ไข่กุ้งเป็นสีดำ กินได้ และไม่ได้แปลว่ากุ้งเสีย ครับ ได้คำถามหลังไมค์มา โดยส่งรูปจากจากเพจ ผู้บริโภค เหมือนเป็นกุ้งเผา ที่มีไข่กุ้งอยู่ แต่กุ้ง 2 ตัวมีไข่กุ้งสีต่างกัน ตัวหนึ่งเป็นสีส้มแบบที่คุ้นเคย กับอีกตัวมีไข่เป็นสีดำ

คำตอบคือ ไม่มีอะไรผิดปกตินะครับ กุ้งไม่ได้เสีย หรือไม่ได้เก่าเก็บอะไร เพียงแต่ว่าไข่กุ้งที่มีสีดำแบบนี้ เนื่องจากเป็นไข่ที่ใกล้จะฟักเป็นตัวลูกกุ้งแล้ว (ถ้าเป็นสีส้มที่คุ้นๆ กันนั้น จะเป็นไข่ที่ยังอ่อนอยู่) จะนำมากินก็ได้ แต่ไม่ค่อยอร่อยอะไรครับ

ฝากด้วยว่า เรื่องนี้ก็คล้ายกับที่เห็นปูไข่ มีไข่สีดำๆ ออกมาอยู่นอกกระดอง ครับ ซึ่งไข่ของปูนั้น เมื่อปล่อยออกมานอกตัวและยึดเกาะอยู่กับจับปิ้งบนกระดอง ตอนแรกก็มีสีเหลืองอมส้ม เปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทาอมน้ำตาล และดำ (ตามลำดับ) ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน ก่อนที่ไข่จะฟักกลายเป็นลูกปูวัยอ่อน ตอนนี้เลยมีการรณรงค์กันมาก ให้ห้ามจับปูไข่นอกกระดองมาขายมาบริโภคกัน เพื่อที่จะได้ยังคงมีลูกหลานปูในทะเลครับ…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์