เมื่อวันที่ 1 ม.ค.พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงสถิติภัยออนไลน์  ที่ได้รับแจ้งช่วงปี 2565 โดยมีสถิติจากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. – 26 ธ.ค. 2565 คดีที่ได้รับแจ้งมากที่สุด มี 5 ประเภทคดี      คือ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 51,769 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 32.67  2. หลอกโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 22,190 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.01 3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวน 18,893 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.92 4. หลอกให้ลงทุน(ที่ไม่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน) จำนวน 14,051 เรื่อง    คิดเป็นร้อยละ 8.87 และ 5. คดีเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 12,625 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 7.97

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.(ปป)) ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม         ให้ความสำคัญกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงชักชวนลงทุนการหลอกให้กู้ยืมเงิน การหลอกให้โอนเพื่อหารายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ คดีเกี่ยวกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ การสร้างข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับให้สร้างการรับรู้การป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทุกรูปแบบ โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้สนองนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง มีผลการปราบปรามเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม เช่น การปราบปรามอาชญากรรม    แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วยยุทธการหักซิมม้า และยุทธการตัดวงจร ซิม-สาย-เสา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการตัดวงจรความเสียหายก่อนที่มิจฉาชีพจะไปหลอกลวงประชาชน และพบว่าสถิติการรับแจ้งความลดลงไปกว่าร้อยละ 25 อย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากประเภทคดีที่ได้รับแจ้งความข้างต้น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การแฮกหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านทาง         คิวอาร์โค้ด หรือผ่านการใช้อินเตอร์เน็ตสาธารณะ (Wifi) เป็นต้น ซึ่ง ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร.(ปป) และ ผบช.สอท. ได้กำชับแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ เน้นเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน (Public Awareness) เพื่อลดช่องโอกาสในการกระทำความผิด ป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อเป็นหลัก รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการปราบปรามอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ โฆษก บช.สอท. ได้ฝากข้อแนะนำพื้นฐานให้กับประชาชน เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยออนไลน์ เช่น การหลอกลวงลงทุน หลอกลวงซื้อขายสินค้า หลอกโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม รวมไปถึงการถูกแฮกหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. อย่าด่วนตัดสินใจเมื่อได้รับข้อความชักชวนลงทุน หรือพบข่าวใดๆ ที่น่าสงสัย ให้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเสียก่อน

2. สังเกตสัญญาณที่ผิดปกติ กลโกงต่าง ๆ จากข้อเสนอการลงทุน การให้กู้เงิน หรือกิจกรรมต่างๆที่ชักชวนโอนเงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์

3. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีผลตอบแทนสูง ง่าย ใช้เวลาระยะสั้น มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

4. หากรู้ตัวว่าถูกหลอก ให้เตรียมบันทึกการสนทนา สลิปการโอนเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

5. กำหนดวงเงินในการทำธุรกรรมออนไลน์ให้เหมาะสม เพื่อจำกัดมูลค่าความเสียหาย หรืออาจเลือกตั้งค่าวงเงินให้ต่ำสุดที่ระบบรองรับได้ และปรับแต่งอีกครั้งเมื่อมีการเรียกใช้งาน

6. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เช่น ไม่โพสต์คิวอาร์โค้ดที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการกดเข้าลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ตั้งค่าความปลอดภัยโซเชียลมีเดียของตนเอง

7. พึงตระหนักเสมอว่าอินเตอร์เน็ตสาธารณะไม่ปลอดภัย ควรใช้อินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ หากต้องการเข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน

8. หมั่นอัปเดตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสในอยู่เสมอ รวมถึงตั้งค่ารายงานสแปม

ทั้งนี้หากพบข้อขัดข้องใด ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และ www.thaipoliceonline.com