เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เทศกาลตรุษจีน ในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มจาก จ.เชียงใหม่ มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากได้นำเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมู เป็ด ไก่ ส้มเขียวหวาน กล้วย รวมถึงผลไม้มงคล ขนมที่เป็นมงคลต่างๆ เข้ามากราบไหว้บูชาเทพเจ้าปุนเถ้ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ได้แก่ ทีตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน) กวนอิมเนี่ยเนี้ย (เจ้าแม่กวนอิม) ไช้ซิ้งเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั้วท้อเซียนซือ (เทพเจ้าโอสถ) เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ หรือตั้วเล่าเอี้ย (เจ้าพ่อเสือ) เล้งซิ้ง (เจ้ามังกร) โฮ้วเอี้ย (เจ้าพยัคฆ์) ตี่จู้ (เจ้าที่) หมึงซิ้ง (เจ้ารักษาประตู) จึงมีการทำพิธีทางศาสนาเบิกเนตร (ไคกวง) และอัญเชิญเจ้าสู่ที่ประทับ (เซ่งเต่ย) เทพเจ้ากวนอู ฮกลกซิ่ว แปดเซียนสิบแปดอรหันต์ ฯลฯ พร้อมทั้งมีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เพื่อขอให้ครอบครัวเจริญในหน้าที่การงาน อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

จ.นครสวรรค์ ชาวไทยเชื้อสายจีนชาวปากน้ำโพ ต่างออกมาตั้งโต๊ะไหว้เจ้ากันบริเวณหน้าบ้านและร้านค้ากันตั้งแต่เช้าตรู่กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งสองข้างทางในพื้นที่เขตเศรษฐกิจเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นไปด้วยความคึกคัก ขณะเดียวกัน บริเวณศาลเจ้าในตัวเมือง ก็มีผู้คนเดินทางมากราบไหว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้ มีความเชื่อกันว่าในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ หากได้มากราบไหว้ขอพรแล้ว จะช่วยให้สิ่งเลวร้ายหายไป มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต การงานเจริญก้าวหน้าตลอดทั้งปี

จ.พิษณุโลก ที่บริเวณศาลเจ้าปุ่นเถ้ากง-ม่า ศาลเจ้าเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก มีประชาชนนำสิ่งของไปกราบไหว้องค์ปุ่นเถ้ากง-ม่าองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ และองค์พระภูมิเจ้าที่ ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าเจ้าที่ประจำเมือง ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนับถือ เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการเริ่มต้นปีใหม่จีน

จ.ตรัง ที่ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย ถนนรักษ์จันทร์ เขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ของจังหวัดตรัง มีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก นำหมูย่าง อาหารคาวหวานประเภทหมี่ผัด ผลไม้ ของหวาน ไปตั้งโต๊ะเซ่นไหว้องค์พระท่ามกงเยี่ย ซึ่งชาวตรังส่วนใหญ่มีความเชื่อมาในวันตรุษจีน หรือในวันสำคัญต่าง ๆ การเข้ามาขอพรให้ท่านหรือศักดิ์สิทธิ์ ปัดเป่าทุกข์และพึ่งพาได้ในทุกเรื่อง

จ.ปัตตานี ที่บริเวณศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ตั้งแต่ช่วงเช้า มีประชาชนเชื้อสายจีนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อแดงเป็นจำนวนมาก เดินทางนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น เป็ด ไก่ หมู ผลไม้มงคล มาเซ่นไหว้ขอพรกับ “เฉ่งจุ้ยโจวซือ” หรือที่คนปัตตานีรู้จักกันในนาม “พระหมอ” พระหมอประดิษฐานอยู่ที่โถงกลางของศาลเจ้าเล่งจูเกียง ที่คนไทยเชื้อสายจีนขอพรในเรื่องสุขภาพร่างกายที่ดีในช่วงปีใหม่ตรุษจีน ขณะเดียวกัน ศิษยานุศิษย์ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทพไฉ่ซิงเอี๊ย หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งถือเป็นองค์พระที่ชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความบูชาศรัทธาประทับเกี้ยว เยี่ยมเยือนประชาชนสองฝั่งถนน เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ และได้มีการเชิดสิงโต ตีกลอง และจุดประทัด และอัญเชิญองค์พระกลับไปตั้งไว้ในศาลเจ้าแม่ ก่อนถึงวันพิธีลุยน้ำลุยไฟที่จะมาถึง

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายตรุษจีนปีนี้สูงถึง 45,017.17 ล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี นับจากปี 64 หรือเพิ่มขึ้น 13.6% จากปี 65 ที่มีมูลค่า 39,627.79 ล้านบาท เป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับจากปี 63 ที่ติดลบ 1.53%, ปี 64 ติดลบ 21.85% และปี 65 ติดลบ 11.82%

ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจสอบถามประชาชนถึงการใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่ 41.3% ระบุว่า ใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน อีก 38.4% บอกเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น, ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น, รายได้มากขึ้น, ได้โบนัสมากขึ้น, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน, ธุรกิจได้กำไรมากขึ้น และอีก 20.3% บอกใช้จ่ายลดลง เพราะมีหนี้มากขึ้น โดยผู้ที่มีหนี้มากกว่ารายได้ คือกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000-20,000 บาท, ลดค่าใช้จ่าย, ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง, รายได้ลดลง, โควิดยังแพร่ระบาด, เสถียรภาพทางการเมือง, ภัยธรรมชาติ

เมื่อถามถึงราคาของเซ่นไหว้ในปีนี้ มากถึง 36.6% บอกของแพงขึ้นมาก จึงลดจำนวนชิ้น ซื้อเฉพาะของที่จำเป็น ซื้อของคุณภาพลดลง และใช้ของที่เหลือจากปีก่อน ขณะที่ 28.4% บอกของแพงขึ้นน้อย, 32.8% บอกราคาไม่เปลี่ยนแปลง และอีก 1.8% บอกถูกลง