ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลา 14.00 น. ของวันนี้ (25 ม.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะเผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้สาธารณชนได้รับทราบ หลังจากนั้นจะมีการเปิดเผยในรายละเอียดช่วงเวลา 14.30 น.

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้คาดการณ์ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เร่งสูงขึ้นที่ระดับ 5.89% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ธ.ค. อยู่ในระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 3.23% สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง โดยการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศจีน ที่ทยอยกลับมาเป็นปกติจะช่วยหนุนการส่งออกไทยแม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่

ในระยะข้างหน้า กนง. มีแนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้งที่ 0.25% ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ และอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไปจนตลอดทั้งปี 2566 ท่ามกลางเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมหรือฟื้นตัวแบบรูปตัว K (K-shaped recovery) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะยังคงเปราะบางเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้าน “วิจัยกรุงศรี” คาดการณ์ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ดอกเบี้ยของไทยเข้าสู่วงจรขาขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 และการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ปีที่ผ่านมา กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% จากการประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ท่ามกลางแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเหนือกรอบเป้าหมาย ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และค่าขนส่งสาธารณะ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคที่ปรับดีขึ้น

ในระยะถัดไปแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยบวกมากขึ้นจากภาคท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้กนง.มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาทิ  1.เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น 2.เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน และผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยล่าสุดแข็งค่าจากสิ้นปี 2565 สูงกว่า 5%

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการประเมินของ กนง. ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและการส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าว่า จะให้น้ำหนักต่อประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือเสถียรภาพด้านราคาเป็นสำคัญ