วันที่ 27 ม.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก น.ส.เนตรนภา งามเนตร หัวหน้าวนอุทยานเขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กรณีเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้เข้ามาสำรวจซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ภายในวนอุทยานเขานางพันธุรัต เบื้องต้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate fossils) และปะการังกลุ่ม (Coronial corals) เป็นปะการังที่อยู่เป็นกลุ่ม colony มีหลายลักษณะเกาะรวมกันเป็นก้อนขนาดใหญ่หรือเชื่อมต่อคล้ายกับกิ่งไม้ ปะการังเขาสัตว์ (Rogose corals) เป็นปะการังที่อยู่ตัวเดียวลักษณะคล้ายเขาสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปเเล้ว พลับพลึงทะเล หรือ “ไครนอยด์” (Crinoid) เป็นสัตว์ในกลุ่ม เอไคโนเดริม (Echinoderm)

มีก้านลักษณะเป็นวงเเหวนยอดเป็นช่อคล้ายดอกไม้ ฟิวซูลินิด (Fusulinid) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเลและสูญพันธุ์ไปแล้ว สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า และอาจยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำรวจพบในพื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนในยุคเพอร์เมียน และมีอายุราว 250-290 ล้านปี ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการสำรวจซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ภายในวนอุทยานเขานางพันธุรัตอย่างละเอียด และจัดการเป็นแห่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาต่อไป

น.ส.เนตรนภา กล่าวว่า ซากฟอสซิลที่เจอเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ปะการังกลุ่ม เปลือกหอย 2 ฝา และหอย 1 ฝา พืชทะเล พลับพลึงทะเล พบว่าภูเขานางพันธุรัตเ ป็นลักขณะภูเขาหินปูน โอกาสที่พบสิ่งมีชีวิตพบเห็นได้ง่าย เห็นได้ชัดเจน และมีจำนวนมาก

สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 250-270 ล้านปีในยุคเฟอร์เมียน หรือก่อนยุคไดโนเสาร์ สันนิษฐานว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นทะเลมาก่อน ซึ่งเขานางพันธุรัตได้มีการพบเปลือกหอยทะเลจำนวนมากบนเขาก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากที่พบซากฟอสซิล จะเตรียมสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งในอนาคต เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เส้นทางธรณีวิทยาหรือศึกษาธรรมชาติของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยต่อไป.