เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบวาฬบรูด้า เข้ามาหากินในพื้นที่ รวมจำนวน 3 ตัว เมื่อตรวจสอบอัตลักษณ์กับฐานข้อมูลการจำแนกประชากรวาฬบรูด้าแล้ว โดย 2 ตัวแรกพบว่า เป็นแม่วันดีกับเจ้าวันรุ่ง ซึ่งเป็นลูกที่เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ส่วนอีกตัวยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้

นายสาธิต ตันติกฤตยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลในอดีตพบว่า มีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่เฉลี่ย 1-2 ตัวต่อปี จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติ ในช่วงปี 2563-2564 ทำให้ระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้รับการฟื้นฟู ซึ่งในช่วงต้นปี จะเป็นฤดูกาลที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่รวม 4 ตัว คือ แม่วันดี เจ้าวันหยุด เจ้าอิ่มเอม และเจ้าเปรมปรีดิ์ และในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 พบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินในพื้นที่รวม 6 ตัว คือ เจ้าเปรมปรีดิ์ เจ้าสาคู เจ้าเมษา แม่สดใสและลูกชื่อเจ้าแสนดี และอีกตัวไม่ทราบชื่อ

“ส่วนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบแม่วันดีกับเจ้าวันรุ่ง 2 แม่ลูกวาฬบรูด้าเข้ามาหากิน โชว์ความน่ารักในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พร้อมเพื่อนอีก 1 ตัว จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามว่า จะมีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินเพิ่มเติมหรือไม่ และจะเวียนว่ายหากินอยู่ในพื้นที่นานเท่าไหร่” นายสาธิต กล่าว

ด้านนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การที่พบวาฬบรูด้าสัตว์ทะเลหายาก กลับเข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย ในช่วงทุกต้นปี สามารถยืนยันชี้วัดได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในแถบทะเลเกาะสมุยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ ทุกฝ่าย ให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในการเดินเรือ และการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อช่วยกันดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าของท้องทะเลอ่าวไทยให้ยั่งยืนตลอดไป