เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่สำนักงานเขตดุสิต ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสและจดแจ้งชีวิตคู่ในเทศกาลวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00น. ภายใต้ชื่องาน “ปดิวรัดา…ด้วยรักภักดีนิรันดร์” รฦกรัก ณ อัครสถานพระราชอุทยานสวนสุนันทา เนรมิตพระตำหนักวังเดิม ให้กลายเป็นสถานที่พิเศษสำหรับคู่รักทุกเพศในการจดทะเบียนความรัก ศูนย์กลางของราชสำนักฝ่ายในแห่งสุดท้ายของสยาม ซึ่งในอดีตเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาในรัชกาลที่ 5 หวนคืนบรรยากาศในอดีตให้กลับคืนมาอีกครั้ง โอบอุ้มด้วยความอบอุ่นทุกจากมุมของพระตำหนัก ที่สร้างด้วยความรักจากสามีผู้รักภรรยายิ่ง และมุมต่างๆ ที่แสดงถึงความปรนนิบัติจงรักภักดีต่อสามีจวบจนสิ้นพระชนม์ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวานที่จัดเรียงอย่างดี ทั้งนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญจากบทบันทึกของคุณข้าหลวง รวมไปถึงการจัดแสดงศิลปะวัตถุอันเกี่ยวเนื่องชิ้นสำคัญ ให้ได้ดื่มด่ำบรรยากาศ

โดยให้บริการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน แก่คู่รักที่มีความประสงค์จะเริ่มต้นชีวิตคู่ถูกต้องตามกฎหมาย และจดแจ้งชีวิตคู่แก่คู่รักหลากหลายทางเพศ ยืนยันเคียงข้างคู่รักเพศหลากหลายในฐานะประชาชน ที่ยังรอสิทธิด้านกฎหมายสมรส ซึ่งสถิติผู้มาจดแจ้งในแต่ละปี จะเป็นข้อมูลสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมในอนาคต เพื่อเป็นแรงผลักดันในการสร้างความเท่าเทียม และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีแก่สถาบันครอบครัว อีกทั้งเป็นการเผยแพร่สถานที่สำคัญในพื้นที่เขตดุสิต กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

จากนั้น เมื่อเวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่ม LGBT เดินทางร่วมกิจกรรมที่สำนักงานเขตดุสิต จัดให้มีการจด “ใบรับการแจ้งชีวิตคู่” โดยมี คู่รักข้ามเพศเดินทางกันมาจดทะเบียนกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยทางกลุ่มได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นที่ทางกลุ่ม LGBT ได้ออกมาเรียกร้องว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพแก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในระดับหนึ่ง ตั้งแต่การมีสถานประกอบการที่ยอมรับบุคคลเพศหลากหลาย การที่มีพื้นที่ให้ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ยูทูบเบอร์เพศหลากหลายในช่องทางสื่อ รามไปถึงการมีสื่อที่มีเนื้อหาเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีผู้แทนประชาชนจากกลุ่มบุคคลเพศหลากหลายที่ได้รับการเลือกตั้ง ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับสภาผู้แทนราษฎร

แต่เมื่อมองไปถึงรัฐธรรมนูญที่ป็นเสาหลักของประเทศ เราพบว่ากฎหมายและนโยบายของรัฐยังไม่คุ้มครองบุคคลเพศหลากหลายอย่างทั่วถึง เช่น กฎหมายการจัดตั้งครอบครัว กฎหมายการรับรองอัตลักษณ์บุคคลหรือการป้องกันอาชญากรรมการเกลียดกลัวเพศหลากหลาย หนึ่งในกฎหมายที่ว่านั้นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ว่า ‘การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้’

สิ่งสำคัญของข้อความในมาตรานี้คือ ข้อความได้มีการระบุชัดเจนว่าการสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสนั้นเป็นชายหรือหญิง กฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิของคู่รักหรือบุคคลเพศหลากหลาย ไม่ให้ได้รับสิทธิดังที่คู่สมรสชาย-หญิงตรงเพศได้จากกฎหมาย ป.พ.พ. 1448 ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายไม่ให้เข้าถึงการจัดตั้งครอบครัวรวมถึงการใช้ภายาที่มีการกีดกันความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของบุคคลเพศหลากหลายโดยตรง มาถึงวันนี้กฎหมายดังกล่าวได้ถูกพิจารณาในวาระที่หนึ่งของรัฐสภาและยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองและสาม แต่จากสถานการณ์เบื้องต้น เราพบว่าการพิจารณาของรัฐสภามีความล่าช้า สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากไม่ทำหน้าที่จนเกิดสภาล่ม แสดงให้เห็นว่าวาระที่สำคัญที่ประชาชนรอคอยนั้นเป็นวาระที่ถูกเพิกเฉย และไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญ จนน่าหวาดกลัวว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองครอบครัวให้กับคู่ชีวิตเพศหลากหลายจะหมดวาระพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐสภา สมาชิกผู้แทนราษฎรทุกคนและทุกพรรคการเมือง ต้องร่วมมือกันให้มีการพิจารณากฎหมายในรัฐสภาให้เสร็จสิ้นก่อนวาระสภาสิ้นสุดในปี 2566 และต้องพิจารณากฎหมายเพื่อจัดตั้งครอบครัวโดยเฉพาะการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ห้า และหก เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงกฎหมายสมรสได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคู่รักของเค้าจะเป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่รักข้ามเพศหรือคู่รักเพศหลากหลาย เราขอชื่นชมเขตดุสิตเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและอำเภอเมืองจังหวัดระยอง ที่เป็นตัวอย่างในการสร้างความเข้าใจว่า ฝ่ายปกครองก็พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อรองรับการจดทะเบียนคู่สมรสให้กับกลุ่มเพศหลากหลาย

อย่างไรก็ตามตอนนี้ประชาชนได้มีการรวบรวมรายชื่อมากกว่า 390,000 รายชื่อ ผ่าน www.support1448.org ถ้าหากว่ามีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือกฎหมายที่อยู่ในสภาไม่ผ่าน ภาคประชาชนจะนำรายชื่อที่รวบรวมเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายนำเสนอกับรัฐสภาอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้หลังการเลือกตั้งมีการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นหมุดหมายสำคัญว่า ถ้าหากว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเป็นที่พึ่งในการออกกฏหมาย พวกเราจะดำเนินการเอง

ทางกลุ่มยังกล่าวอีกว่า เพราะเราเชื่อในความรัก โดยไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศ และเราเชื่อว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดรับครอบครัวเพศหลากหลาย