เมื่อพูดถึงโรคคุ้นหู้ที่หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินกันตั้งแจ่เด็กๆอย่าง “โรคเกาต์” นั้น แต่อันที่จริงแล้วยังมี “โรคเกาต์เทียม” อยู่ด้วย.. แล้วทั้งเกาต์แท้ เกาต์เทียม นั้นแตกต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบมาฝากกัน..

โรคเกาต์และโรคเกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร
โรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด (serum uric acid, SUA) สูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ “โมโนโซเดียมยูเรต” (monosodium urate; MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ และ เท้า ทั้งอาจทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) บริเวณข้อ เนื้อเยื่อผิวหนัง และท่อไตซึ่งอาจนําไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ และการสะสมของผลึก MSU นี้ จัดเป็นสิ่งระคายเคืองต่อร่างกายที่จะกระตุ้นกระบวนการอักเสบ (inflammatory response) ทําให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute arthritis) ขึ้น1

โรคเกาต์เทียมเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท “calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD)” โดยมักจะเกิดพยาธิสภาพขึ้นในข้อบริเวณใหญ่ๆ ของร่างกายและมักจะสะสมบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อเท้านั้น ต่างจากโรคเกาต์ที่จะเกิดการตกผลึกเกลือ MSU ในบริเวณข้อและอวัยวะต่าง ๆ ได้หลายระบบ ผลึกเกลือชนิดดังกล่าวจะมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม และอักเสบตามมา

โรคเกาต์เทียมพบได้ในใครบ้าง?
พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในเพศหญิงและชาย นอกจากนี้สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซั่มบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่ต่อมไทรอย์ทำงานบกพร่อง ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม
การวินิจฉัยโรคนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจน้ำไขข้อ ซึ่งจะพบผลึกเกลือ Calcium pyrophosphate dehydrate (ซึ่งต่างจากผลึกเกลือยูเรตในโรคเกาต์) และตรวจพบลักษณะหินปูนจับที่แนวกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

การรักษาโรคเกาต์เทียม
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่สามารถไปละลายหินปูนออกจากกระดูกอ่อนได้ (ซึ่งต่างจากโรคเกาต์แท้ที่มียาละลายกรดยูริกออกจากเนื้อเยื่อในร่าง กายได้) ดังนั้น การรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อ การป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคร่วมที่อาจพบร่วมกันโรคเกาต์เทียม พร้อมให้การรักษาควบคู่กันไป
1.การรักษาทางยา ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซีน เหมือนกับการรักษาในโรคเกาต์แท้
2.ในรายที่มีน้ำในข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะช่วยลดการอักเสบของข้อได้
3.ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะกระทำบ่อย
4.การทำกายภาพบำบัด เป็นส่วนสำคัญเหมือนกับการดูแลข้ออักเสบทั่วไป
5.ค้นหาโรคที่พบร่วมกับโรคเกาต์เทียม พร้อมให้การรักษาที่เหมาะสม เพื่ออาจลดการตกตะกอนของผลึกเกลือที่กระดูกอ่อนผิวข้อเพิ่มขึ้น

อาการโรคเกาต์เทียมเป็นอย่างไร
1.บางรายมาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบเป็น ๆ หาย ๆ เลียนแบบโรคเกาต์แท้
2.บางรายมาด้วยอาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจพบร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้
3.บางรายอาจมาด้วยอาการของข้ออักเสบเรื้อรังเลียนแบบโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้
4.บางรายอาจไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบได้ทางภาพรังสี

ทั้งเกาต์และเกาต์เทียมทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเหมือนกันหรือไม่
โรคทั้งสองชนิดก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบได้เหมือนกัน โดยโรคเกาต์จะก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน บริเวณหัวมือเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าแรก (first metatarsophalangeal joint (MTP1) หรือ podagra) นอกจากนั้นพบอาการปวดได้ที่บริเวณข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น ขณะที่โรคเกาต์เทียมมักจะก่อให้เกิดอาการปวดที่บริเวณข้อใหญ่ ๆ เช่น หัวเข่า (พบมากที่สุด) ข้อเข่า ข้อมือ และข้อไหล่ เป็นต้น..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,@คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล