ทั้งนี้ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ให้ความเข้าใจโดยระบุว่า… ที่ผ่านมา มีหลายโอกาสที่ทางสถาบันฯ มีโครงการพานักศึกษานาฏศิลป์ไปศึกษาดูงาน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม ที่เขมรหรือประเทศกัมพูชา เช่นเดียวกับที่หลายประเทศในอาเซียนเดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่ประเทศไทย โดยที่เรามีความร่วมมือกันในอาเซียนในลักษณะนี้มายาวนาน

“วัฒนธรรมร่วมที่กล่าวถึงกัน แต่เดิมที่ยังไม่มีพรมแดน ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กัน คนฝั่งนี้กับคนฝั่งนู้นเป็นญาติกันเป็นเรื่องปกติ หรือแม้แต่ในไทยเราเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ต่างก็มีวัฒนธรรม ประเพณี ที่เหมือนคล้าย เช่นเดียวกันกับบริบทของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็น พหุวัฒนธรรม มีความหลากหลาย”

อีกทั้งการเป็น “รัฐจารีต” ในอดีต “ด้านวัฒนธรรมมีการสลับกันไปมา” จนหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จากรัฐจารีตเปลี่ยนเป็น “รัฐสมัยใหม่” ไม่ว่าจะประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือจะไม่เคยเป็น หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่ม “สร้างอัตลักษณ์ของตนเองในสังคมโลก” โดยหากสังเกตในช่วงหลังปี พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ นั้นเริ่มโปรโมตประเทศตัวเอง

ดร.สุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมขยายความเพิ่มอีกว่า… อย่างประเทศไทย ในช่วงเวลานั้น มีการแสดงระบำมิตรภาพในชุดต่าง ๆ เช่น… ระบำมิตรภาพไทยลาว ระบำมิตรภาพไทยเกาหลี ระบำมิตรภาพไทยพม่า ระบำมิตรภาพไทยญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อเรามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนก็มี ระบำจีนไทยไมตรี รวมถึงมีการแสดงทางวัฒนธรรมอีกหลากหลาย ต้อนรับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงโขน การแสดงเพลงพื้นเมือง ฯลฯ

หรือครั้งที่ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ก็เคยมีคณะนาฏศิลป์จากประเทศนั้น ๆ เดินทางมาแสดงด้วย ขณะเดียวกันเมื่อทางฝั่งไทยเดินทางไปเยือนก็เคยมีคณะนาฏศิลป์ของไทยไปแสดงด้วยเช่นกันเป็นการ แสดงอัตลักษณ์ของชาติ ทั้งเชื่อมโยงโลก เชื่อมโยงความสัมพันธ์ชาติต่าง ๆ ด้วยศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะนับจากปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา แต่ละประเทศต่างชูวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อสำคัญ โดยสำหรับไทย ก็บอกเล่าความเป็นไทยให้นานาประเทศได้เห็น ได้รู้จัก ได้ซึมซับเอกลักษณ์ความงดงามของวัฒนธรรมไทย

ย้อนกลับไปในอดีตของดินแดน “สุวรรณภูมิ” ไม่ว่าจะเป็น… ไทย, พม่าหรือเมียนมา, ลาว, เวียดนาม, เขมรหรือกัมพูชา ต่างก็เรียกตนเองว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งจากที่กล่าว… การไม่มีเขตแดนและการได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีน จากอินเดีย เมื่ออิทธิพลทางวัฒนธรรมเหล่านี้ หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ จึงเกิดการพัฒนาขึ้นในรูปแบบของตนเอง เกิดเป็นประเพณี ความเชื่อ การปกครอง สังคม ฯลฯ

อีกทั้ง คติความเชื่อ ของดินแดนสุวรรณภูมิ ผืนแผ่นดินใหญ่แห่งนี้ มีทั้งคติพราหมณ์ คติฮินดู คติพุทธมหายาน คติพุทธแบบเถรวาท ฯลฯ ที่เข้ามา ก็มีผลให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม

“การหลอมรวมของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น แม้มีรากวัฒนธรรมร่วมกัน แต่ก็จะมีความต่างกันอยู่ มีความเฉพาะตน เช่น… รามเกียรติ์ รามายณะ ถึงจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียจากศาสนาพราหมณ์ร่วมกัน แต่จะแตกต่างกันด้วยการแสดงของแต่ละประเภท หรือในเรื่องของตำนาน เรื่องเล่า ก็มีความต่างกัน โดยประยุกต์ให้เข้ากับท้องถิ่น”

อย่างเช่นประเทศไทยเรามีความเชื่อว่า เมืองลพบุรี เป็นเมืองหนุมาน หรือเขาสรรพยา อำเภอสรรพยา มาจากหนุมานแบกสรรพยาลงมา โดยยาเหล่านั้นหล่นร่วงลงกลายมาเป็นอำเภอสรรพยา ขณะเดียวกัน กับความเชื่อเรื่องรามเกียรติ์หรือรามายณะ เมื่อเข้าไปสู่ประเทศลาว ก็จะแปลงเป็น พระลักษมณ์ พระรามชาดก หรืออย่างเช่น ชื่อเมืองจามปา อโยธยา กัมพุช ฯลฯ ล้วนเป็นชื่อเมืองโบราณของอินเดียทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ ยวนหรือโยนก ก็เป็นชื่อเมืองโบราณของอินเดีย เป็นต้น

นอกจาก “หล่อหลอมวัฒนธรรม” ยังมีการ “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ต่อกัน วัฒนธรรมเคลื่อนย้ายโดยมีผู้คนเป็นผู้นำพาขับเคลื่อน อย่างในอดีตเมื่ออินเดีย จีน เข้ามาค้าขายกับสยาม ก็นำพาวัฒนธรรมและคติความเชื่อมาด้วย ขณะเดียวกันอิทธิพลวัฒนธรรมของเราก็ส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ เช่นกัน เมื่อมีการแลกเปลี่ยนหล่อหลอมกันไปมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศใน “อุษาคเนย์” จะ “มีศิลปวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน”

และเชื่อมโยงยุคสมัยปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราก็สวมใส่เสื้อผ้าสากลเหมือนชาติตะวันตก หรือแม้แต่อาหารการกิน เราก็กินแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ฯลฯ เป็นการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาต่อยอดกันและกัน

ดร.สุรัตน์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ประเทศไทยเราก็กล่าวอยู่เสมอว่าเราได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย จากเปอร์เซีย จากจีน ฯลฯ อย่าง แกงมัสมั่น ที่สร้างชื่อ เมนูแกงไทยดังกล่าว ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู มาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ผัดไทย ก็เช่นกัน อีกหนึ่งเมนูที่ พัฒนามาจากวัฒนธรรมอาหารจีน ก๋วยเตี๋ยวผัดที่นำมาปรุงสูตรใส่วัตถุดิบแบบไทย ใส่นํ้ามะขามเปียกเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติในแบบฉบับของคนไทย อีกทั้งที่ขาดไม่ได้คือหัวปลีที่นำมาทานคู่กัน หรือแม้แต่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ก็เป็นวัฒนธรรมจีนที่เรารับมา โดยผู้คนเป็นผู้นำพาวัฒนธรรม เกิดการ สร้างสรรค์ พัฒนา ต่อยอด

“อาหารไทยที่สร้างชื่อติดลิสต์ระดับโลกหลายต่อหลายเมนู อย่างล่าสุด ข้าวซอย ที่ได้รับการโหวต ก็ ได้รับอิทธิพลมาจากภายนอก จากมุสลิมทางเหนือที่มาจากยูนนาน ผสมผสานกับวัฒนธรรมมุสลิมพม่า และผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา กลายเป็นอาหารที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นข้าวซอย มีรสชาติกลมกล่อมในสไตล์ของเรา”

นอกจากอาหาร นาฏศิลป์ ในมิติของ “ผ้า” ก็ได้ บอกเล่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมอย่างโดดเด่น อย่างผืนผ้าในงานนาฏศิลป์ นับแต่อดีตเราใช้ผ้าจากอินเดีย อีกทั้งใช้เทคนิคการทอผ้า สร้างสรรค์ลวดลายผ้า โดยมีต้นแบบจากอินเดีย อย่าง ผ้ามัดหมี่ ในอินเดียเรียกว่า ผ้าปาโตลา ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมมลายูก็มี ผ้าอีกัต ขณะที่ ในกัมพูชาก็มีผ้ามัดหมี่ หรือสมพต หรือมัดหมี่เขมร ในลาว ในพม่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีผ้ามัดหมี่ มีผ้ายก ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมผืนผ้าที่มีการสืบทอด สั่งสมภูมิปัญญาสืบเนื่องกันมา และพัฒนารูปแบบเป็นของตนเอง พัฒนาต่างกันไปตามความนิยม ตามความชอบของแต่ละท้องถิ่น ต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่า “วัฒนธรรมร่วม” ที่มีต่อกัน

รวมถึง วิธีการนุ่งห่มผ้า ที่ก็เช่นกัน อย่างการ นุ่งผ้าถุง นุ่งโสร่ง ซึ่งคำว่าโสร่งเป็นคำมลายู ในอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ก็เรียกโสร่ง หรือทางภาคอีสานของไทยก็มีการนุ่งโสร่ง เป็น “วัฒนธรรมร่วม” อีกเช่นกัน หรือแม้แต่ โจงกระเบน ก็เป็น วัฒนธรรมร่วมที่มาจากอินเดีย เช่นกัน โดยปัจจุบันยังคงมีการนุ่งผ้าลักษณะนี้ ทั้งนี้ ในวิธีการนุ่งหรือในลวดลายผ้า ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องน่ารู้-มนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรม…

ทั้งนี้ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม ให้มุมมองทิ้งท้ายด้วยว่า… การได้รู้จัก จะยิ่งเพิ่มพูนความเข้าใจ ได้รู้ถึงเหตุผลและปัจจัยที่เกิดขึ้น อธิบายถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้ง และภาคภูมิใจไปกับวัฒนธรรมที่บรรพชนสั่งสมสร้างสรรค์ไว้…

โดยมองโลกได้อย่างสวยงามยิ่งขึ้น.

ทีมวาไรตี้