เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า การประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการการควบคุมโรคแนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้ประชาชนใช้ชีวิตปลอดภัย เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่กระจายไปทั่วโลกเกือบ 2 ปี ทำให้ทั่วโลกได้ประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโควิดมาอย่างต่อเนื่อง มีนวัตกรรมทั้งวัคซีน การตรวจห้องปฏิบัติการที่สะดวกขึ้น เชื่อว่าอนาคตจะมีวิธีรับมือและใช้ชีวิตกับโรคโควิดได้อย่างปลอดภัย เป้าหมาย คือ ลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดให้น้อยที่สุด โดยไม่กระทบการใช้ชีวิตของประชาชน

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ในเดือน ส.ค.ค่อนข้างรุนแรง โดยเราแบ่งระดับความรุนแรงไว้ 5 ระดับ คือ สีแดงเข้มรุนแรงที่สุด สีแดงรุนแรง สีส้มปานกลาง สีเหลืองค่อนข้างปลอดภัย และสีเขียวปลอดภัย โดยเราพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นใน ก.ย.นี้ และลดมาอยู่ในสถานการณ์ปานกลางในช่วง ต.ค. พ.ย.ดีขึ้น และ ธ.ค.น่าจะใช้ชีวิตแนวใหม่ได้อย่างปลอดภัย เป้าหมายดำเนินการป้องกันโรคล่วงหน้าที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีน แม้วัคซีนทุกตัวในโลกไม่มีตัวใดป้องกันติดเชื้อ 100% แต่ทุกตัวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยแนะนำ มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อลงได้ ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี

“เป้าหมายวัคซีนจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโด๊สในปีนี้ โดยไล่เรียงตามกลุ่มเป้าหมาย พยายามฉีดกลุ่มเปราะบางติดเชื้ออาการรุนแรง คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคสำคัญ และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่ม 608 โดยเฉพาะ ก.ย.ตั้งเป้าฉีดเข็มแรกครอบคลุม 70% ของกลุ่ม 608 นี้ ในทุกจังหวัด จากนั้นจะฉีดกลุ่มอื่นทยอยต่อไป รวมทั้งกลุ่มเด็ก ซึ่งไฟเซอร์ฉีดในเด็ก 12 ปีขึ้นไปได้ จะเข้ามาปลาย ก.ย.นี้ จะทยอยฉีดประชาชนและกลุ่มเด็กต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหาหรือชะลอการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องร่วมมาตรการอื่นด้วย คือ 1.มาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดตลอดเวลา (Universal Prevention) แม้ไม่พบความเสี่ยง ให้คิดว่าเราและคนรอบข้างอาจติดเชื้อและแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว จึงใส่หน้ากากเสมอเมื่ออยู่กับคนอื่น หลีกเลี่ยงการเปิดหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ลดการออกจากบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไม่ไปสถานที่แออัด เว้นระยะห่าง ล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิว เป็นต้น ประเมินอาการตนเองเสมอ และตรวจ ATK ให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ในช่วงที่ผ่านมา 2.การคัดกรองด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้ออย่างง่ายด้วย ATK และ 3.มาตรการองค์กร เพราะเวลาเกิดระบาดแล้วมีจำนวนติดเชื้อมากๆ ส่วนใหญ่เกิดในองค์กร เช่น โรงงาน แคมป์คนงานที่แออัด สถานที่ทำงาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ต้องมีมาตรการที่จะร่วมกันดำเนินการ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ถ้าสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งฉีดวัคซีน ป้องกันส่วนบุคคล ตรวจคัดกรอง และสถานที่ทำงานได้ จะสามารถเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่เสนอ ศบค. และ ศบค.เห็นชอบในหลักการ โดยมอบทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐและเอกชนสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน ให้ดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง.