แนวคิดของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง
การเกิดขึ้นของระบบ “การเงินแบบไร้ศูนย์กลาง” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเงินแบบกระจายอำนาจ” เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนทั่วไป แนวคิดนี้ไม่ได้มาจากบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ถูกต่อยอดขึ้นมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชนของ Ethereum ในช่วงปี 2560 โดยเป้าหมายเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางนี้จะสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ใดควบคุม แต่มีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่ร่างไว้ เทคโนโลยีนี้ทำให้เราสามารถสร้างแอปพลิเคชันการเงินแบบกระจายอำนาจ (dApps) ที่ให้บริการธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องใช้ตัวกลางเหมือน “ธนาคาร” ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ไร้ศูนย์กลาง แต่เต็มไปด้วยความโปร่งใส
ความโปร่งใส (Transparency) ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางเลยก็ว่าได้ เพราะทุกการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกบนบล็อกเชนสาธารณะ ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถเข้าดูได้ ความโปร่งใสนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าทุกคนในระบบนิเวศของ DeFi สามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมได้เอง สิ่งนี้จึงสร้างความไว้วางใจเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้งาน เพราะมั่นใจได้ว่าระบบทำงานอย่างยุติธรรมโปร่งใส ตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม (Centralized Finance – CeFi) ที่เราคุ้นเคยนั้นต้องผ่าน “ตัวกลาง” เช่น ธนาคาร โบรกเกอร์ หรือตัวแทน ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้เองไม่สามารถเข้าถึงเส้นทางการทำธุรกรรมได้ด้วยตัวเองทั้งหมดและไม่สามารถมองเห็นธุรกรรมอื่นได้เลย

ไม่มีตัวกลาง จึงไม่มีค่าธรรมเนียม
DeFi สามารถลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต และไม่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ต้นทุนในการให้บริการถูกลงไปกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้สร้างความแตกต่างระหว่างแบบดั้งเดิมกับแบบใหม่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งธนาคารแบบดั้งเดิมบางแห่งคิดค่าธรรมเนียมที่หลายคนมองว่าเป็นภาระที่จำเป็นต้องจ่ายและไม่สามารถเลี่ยงได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนหรือการแลกเปลี่ยน ค่าให้บริการ ค่าเปิดบัญชี เป็นต้น

นอกจากนั้นการเงินรูปแบบใหม่ ยังสามารถขจัดปัญหาในเรื่องของ “ระยะเวลาในการทำธุรกรรม” ได้ด้วย อย่างการโอนเงินระหว่างประเทศ เราต้องการการยืนยันอีกหลายหน่วยงานกว่าจะถึงธนาคารปลายทาง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันในการทำธุรกรรม แต่หากระบบถูกดำเนินการบนแพลตฟอร์ม DeFi เมื่อทุกอย่างถูกตั้งเงื่อนไขและยืนยันบนสัญญาอัจฉริยะแล้ว การทำธุรกรรมสามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีหรือนาทีเท่านั้น แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความเร็วของเครือข่ายบล็อกเชนและระบบอินเทอร์เน็ตด้วย

ความน่ากังวลเมื่อนำระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางมาใช้
หลายคนยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับ DeFi คือด้านหลักเกณฑ์ และกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ เพราะสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมมีการควบคุมอย่างเข้มงวด มีหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ และมีกฎหมายที่เคร่งครัด แต่ในส่วนของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางในประเทศเรานั้นยังมีหลายขั้นตอนและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้ต้องศึกษาให้มากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับโครงการ DeFi ที่มีกิจกรรมที่ครอบคลุมการให้กู้ยืมและกู้ยืม (Lending & Borrowing) การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Decentralized Exchange) การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) ตลอดจนมีการออกโทเคนดิจิทัล เช่น LP token, governance token หรือ token ต่าง ๆ ซึ่งการออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย

อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของความอิสระและความสามารถของ DeFi ที่เปิดให้ทำงานนอกกรอบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการเกิดช่องโหว่ นำไปสู่ความเสี่ยงได้ ผู้ให้บริการ DeFi จำเป็นต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน รวมถึงให้ความรู้กับผู้ใช้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น หากผู้ใช้งานยังขาดความรู้และการระวังตัวในการทำธุรกรรม อาจนำไปสู่ความเสียหายของสินทรัพย์ได้

บทสรุป
แม้ความท้าทายจะมีมาก แต่การที่มีจุดแข็งด้านความโปร่งใส การเข้าถึง และค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่านั้นทำให้ DeFi เป็นตัวเลือกของการให้บริการทางการเงินที่ดูจะครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน แต่ในโลกแห่งการเงินก็ยังมีเรื่องที่ต้องรับมือและเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทุกวัน อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า DeFi จะเข้ามาแทนที่การเงินแบบดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์หรือไม่ เนื่องจาก DeFi เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม DeFi มีศักยภาพที่จะเข้ามา Disrupt ระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้ด้วยจุดแข็งที่แน่นอนคือ การทำให้การเงินเป็นประชาธิปไตยและให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงมากขึ้น

ที่มา: Bitkub Blog, brightnode, sec.or.th
เขียนโดย: www.bitkub.com/blog

_____________________________________________________

คำเตือน:
-คริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล มีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
-สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
-ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต