สืบเนื่องจาก เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง เดินทางไปกองบัญชาการทหารบก เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม กรณี น.ส.เอ (นามสมมุติ) ถูกอดีตสามีเป็นทหารยศสิบเอก ทำร้ายร่างกายขณะตั้งครรภ์ 3 เดือน จนทำให้เกือบแท้งลูก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มี.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายกัณฐัศว์ เดินทางมาพร้อมผู้เสียหาย เพื่อขอชุดคุ้มครองพยาน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีทหารบุกไปบ้านผู้เสียหายติดตามและข่มขู่ผู้เสียหายในโรงพยาบาล อีกทั้งหลังจากการเปิดเผยเรื่องนี้ ก็ยังมีคงทหารพยายามติดต่อครอบครัวผู้เสียหายหลายครั้งด้วย

ด้านตัวแทนรับเรื่อง นายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมรับเรื่องเพื่อดำเนินการในส่วนการคุ้มครองพยาน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ในการคุ้มครองพยาน และเข้าช่วยเหลือในเรื่องของการเยียวยา

ตัวแทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องก็ได้ดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้ว วันนี้ได้มาเชื่อมโยงกับหน่วยงานยุติธรรม เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้เสียหาย และช่วยคุ้มครองให้ผู้เสียหายปลอดภัยมากขึ้น หากเป็นกรณีฉุกเฉิน พม. จะมีบ้านพักให้ชั่วคราว ส่วนระยะยาวจะเป็นส่วนของกระทรวงยุติธรรมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ

ด้าน นายกัณฐัศว์ ระบุว่า เหตุที่ต้องมากระทรวงยุติธรรม และนำ พม.มาด้วย เพราะผู้เสียหายถูกคุกคามโดยมีเจ้าที่ทหารมาหาที่บ้าน และมีโทรศัพท์เข้ามาหาตนบอกว่า หากเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องนี้ตนอาจจะไม่ปลอดภัย

“วันนี้ที่มายืนตรงนี้ผมไม่ห่วงอะไรแล้ว หากจะมีใครมาทำอะไรผม ต่อให้ผมตายไปน้องก็ยังอยู่ได้ เพราะมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลืออยู่ จากที่ท่านจะมาบ้านน้องเมื่อไหร่ก็ได้ จากวันนี้ต้องคิดให้ดีๆ เพราะตอนนี้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานดูแลน้องอยู่ หากมาหาอาจจะไม่ได้เจอแค่น้อง แต่จะเจอเจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานรอต้อนรับด้วย” นายกัณฐัศว์ กล่าว

นายกัณฐัศว์ ยังระบุอีกว่า กรณีที่มีการอ้างว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์และเป็นทหารด้วย เข้ามาหาผู้เสียหาย แล้วใช้ถ้อยคำหยาบคาย และพยายามให้ผู้เสียหายรับเงินไปพร้อมระบุว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” และเซ็นไม่ติดใจเอาความไป ซึ่งทางผู้เสียหายไม่ยอม นักสังคมสงเคาะห์ดังกล่าวจึงฉีกเอกสารทิ้งต่อหน้า กรณีนี้ตนได้สอบถามกับ พม.แล้ว เป็นคำที่นักสังคมสงเคราะห์ไม่สามารถพูดได้ เรื่องนี้ตนจะไปร้องสภาวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ที่บ้านราชวิถี ให้ตรวจสอบการกระทำว่าการกระทำเช่นนี้ผิดจริยธรรมนักสังคมสงเคราะห์หรือไม่

ด้านผู้เสียหาย เผยว่า สภาพจิตใจตอนนี้อุ่นใจมากขึ้น ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล แต่ยังเป็นห่วงแม่ และน้องสาว ที่ผ่านมากังวลเรื่องที่พยาบาลบอกว่าตนเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าขั้นรุนแรง แต่ไปตรวจใหม่แล้วพบว่าไม่จริง และฝากบอกหน่วยงานที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ว่าหากจะปกป้องคนของท่านมันไม่ผิด แต่ต้องดูให้ดีว่าคนของท่านน่าปกป้องหรือไม่ อย่าให้คนคนเดียวทำให้องค์กรเสื่อมเสีย ยืนยันจะดำเนินการให้ถึงที่สุด.