เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก ตร. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพใช้โอกาสเทศกาลสงกรานต์ออกอุบายหลอกลวงออนไลน์ และกล่าวถึงสถิติคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนร้องเรียนผ่านแจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ thaipoliceonline.com ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 22,486 คดี ยอดความเสียหายรวมสูงกว่า 1,842 ล้านบาท โดย 5 ลำดับสูงสุด ได้แก่ 1.หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นขบวนการ 2.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 3.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานฯ 4.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) และ 5.หลอกให้กู้เงิน

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโจรออนไลน์มักจะออกอุบายตามเทศกาลวันสำคัญตามประเพณี ในช่วงฤดูร้อนนี้ จึงขอแจ้งเตือนถึงรูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ที่โจรอาจใช้ในการหลอกลวง ดังนี้

1.“หลอกขายแอร์ พัดลม เครื่องฟอกอากาศ” หลอกให้โอนเงินก่อนแต่ไม่จัดส่งสินค้า หรือส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง แต่เป็นสินค้าปลอม ไม่ตรงปก คุณภาพต่ำ

2.“หลอกขายทัวร์ท่องเที่ยวทิพย์” หลอกลวงขายตั๋วทัวร์ในประเทศ/ต่างประเทศ ให้โอนเงินแล้วเงียบหายติดต่อไม่ได้ไม่ได้เดินทางจริง

3.“หลอกลดหย่อนค่าไฟ, หลอกแจกตั๋วเครื่องบินฟรี” หลอกให้ดาวน์โหลดแอปดูดเงิน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด

4.“หลอกทำงานพิเศษช่วงปิดเทอม” หลอกให้โอนเงิน ลงทุน เพื่อทำงานพิเศษ เช่น กดรับออร์เดอร์ ทำสต๊อกสินค้า หลอกให้ลงทุน แล้วไม่ได้รับเงินคืนทั้งต้นทุนและกำไร

5.“หลอกกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ” หลอกให้โอนเงินเป็นค่าธรรมเนียม หรืออ้างทดลองโอนเงินเข้าบริษัท เพื่อแสดงว่าสามารถผ่อนชำระได้ และหลอกให้โอนเงินเพิ่มโดยใช้ข้ออ้างต่างๆ เช่น โอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมผิดพลาด จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทั้งเงินกู้ และเงินที่โอนไป

“พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 66 ผลของกฎหมายมีผลให้เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รองโฆษก ตร. กล่าว

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชนจะตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ ได้สั่งการให้เร่งรัดเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ (Cyber Vaccine) ให้กับประชาชน โดยสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “เตือนภัยออนไลน์” และสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 08-1866-3000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือที่สถานีตำรวจได้ทุกแห่งทั่วประเทศ.