เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า วัดรางบัวทอง หมู่ 2 ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีชาวบ้านซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ มีการประกอบพิธีเลี้ยงส่งผีหลังวัด หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้คนในครอบครัว หายเจ็บ หายไข้ และอยู่เย็นเป็นสุข จึงได้ไปตรวจสอบที่วัดรางบัวทอง เมื่อมาถึงได้พบกับ นางสายบัว สุขงาม อายุ 82 ปี เปิดเผยว่า พิธีส่งผีหลังวัดเป็นประเพณีที่ชาวบ้านกุ่ม ทำกันติดต่อกันมาทุกปี ในช่วงวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ยาวนานกว่า 100 ปี ตามความเชื่อของบรรพบุรุษไทยเชื้อสายมอญ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า การไหว้ผีสาง เทวดา ให้คุ้มครองคนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

น.ส.พรรณี ท้าวฬา อายุ 56 ปี กล่าวว่า ครอบครัวได้ปั้นตุ๊กตาดินเลี้ยงส่งผีหลังวัด เป็นประจำทุกปี ส่วนของเซ่นไหว้ก็มี พริกแห้ง หอม กระเทียม ข้าวสาร เกลือ ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ ใส่กระทงเล็กๆ นำสิ่งของทั้งหมดใส่ในกระบะกาบกล้วย นำไปไว้ที่ทาง 3 แพร่ง ที่หลังวัดรางบัวทอง โดยวางกระบะจุดธูปปักไว้ในกระบะ แล้วกล่าวคำว่า ผีตายโหง ผีตายห่า ผีป่า ผีปอบ ที่มาทักทาย แล้วบอกชื่อคนป่วย หรือคนในบ้าน ได้นำสิ่งของมาให้แล้ว ขอให้หายป่วย หายไข้ และอย่ามารบกวนเป็นอันขาด ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ด้าน นางอรสา แสนโรจน์ อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.บ้านกุ่ม กล่าวว่า บรรดาญาติพี่น้องและลูกหลาน ช่วยกันปั้นตุ๊กตาด้วยดินเหนียว เป็นรูปปั้นชายหญิง และรูปปั้นสัตว์เลี้ยงได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย แมว หมา เพื่อใช้ในพิธีส่งหลังวัด หรือที่ชาวบ้านมักเรียกติดปากกันพิธีเสียกระแบะกระบาล เนื่องจากในสมัยก่อน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยกันขึ้นคราใด ชาวบ้านเชื่อว่า ผี เป็นต้นเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย จึงหาวิธีรักษา หรือแก้กันที่ต้นเหตุ ชาวไทยเชื้อสายมอญโบราณ จึงใช้พิธีเสียกระบาล หรือพิธีส่งหลังวัด เพื่อเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้เกิดขึ้น เมื่อจิตใจสบายขึ้น มีผลทางสภาพจิตใจ คนเราถ้าใจดีไม่วิตกกังวลวุ่นวายแล้ว ความเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะหายเร็ว ดังนั้นถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว คนโบราณรู้วิธีบำบัดโรคได้ถูกทางเหมือนกัน คือใช้ความเชื่อของตนแก้โรคภัยไข้เจ็บ เหมือนหนามยอกเอาหนามบ่งนั่นเอง วิถีชีวิตเช่นนี้แสดงให้เห็นการพึ่งตนเองของคนในสมัยโบราณ นับว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเองอีกวิธีหนึ่ง.