เรียกได้ว่ากำลังกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ และแชร์กันออกไปเป็นจำนวนมาก กับเรื่องราวของ “ค่าไฟ” ทำเอาหลายคนลุกขึ้นมาโอดว่า ค่าไฟแพงหูฉี่ ที่บางรายค่าไฟฟ้า แพงขึ้น 2-3 เท่าตัว แม้ว่าจะใช้ไฟเท่าเดิมก็ตาม จนหลายๆ คนเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ ในการช่วยเซฟค่าไฟ

โดยหนึ่งในหลายๆ วิธี คงจะหนีไม่พ้น “การติดโซลาร์เซลล์” แต่ก็ยังคงมีคำถามที่คาใจ ไม่ว่าจะช่วยประหยัดไฟจริงไหม? แพงหรือเปล่า? กี่ปีถึงคุ้มทุนกันแน่? วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” มีคำตอบมาฝาก

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ประหยัดไฟ จริงหรือไม่?
ผู้ที่ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันค่อนข้างมาก อาทิ บ้านที่เป็นโฮมออฟฟิศ หรือเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือบ้านที่บิลค่าไฟสูง มีการใช้ไฟและเปิดแอร์หลายชั่วโมงต่อวัน ยิ่งถ้าแอร์ที่ใช้มีขนาดมากกว่า 12,000 btu ด้วยแล้ว ค่าไฟต่อเดือนจะสูงมาก ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยให้คุณประหยัดค่าไฟได้ โดยใช้ไฟที่ผลิตจากพลังแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน อาจดึงไฟจากการไฟฟ้ามาใช้บ้างในช่วงเวลาที่แสงน้อย

ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์แพงมากไหม ต้องติดตั้งขนาดเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?
ในส่วนของการติดตั้งระบบโซลาร์นั้นต้องบอกว่ามีความยืดหยุ่นไม่ตายตัว โดยเราจะคำนึงถึงเงื่อนไขและปัจจัยหลักๆ อะไรบ้าง โดยปัจจัยหลักนั้น คือค่าไฟหรือปริมาณการใช้ไฟในแต่ละเดือน โดยส่วนมากเรามักจะเลือกขนาดการติดตั้งที่ 60-80% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า และเงื่อนไขนั้นคือพื้นที่หลังคาสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอสำหรับติดตั้งหรือไม่ รวมถึงการประเมินถึงสิ่งปลูกสร้างหรือพื้นที่รอบด้าน ที่จะส่งผลให้เกิดเงาบังลงบนแผงด้วย ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตของระบบโซลาร์เซลล์นั้นลดน้อยลงได้ ในส่วนของราคาล่ะแพงมากหรือไม่? ต้องตอบเลยว่าแพงแน่นอน แต่ให้เราไปดูที่ความคุ้มค่ากันก่อนค่อยตัดสินใจอีกครั้ง

ติดแล้วคุ้มไหม จะคืนทุนเมื่อไหร่?
โดยเฉลี่ยแล้วแนะนำไม่ควรเกิน 3-5 ปี เพราะนั้นจะส่งผลให้ผู้ที่ติดตั้งได้กำไรกลับคืนมา จากการประหยัดค่าไฟลดลงตั้งแต่ปีที่ 6 จนถึงปีที่ 25 (อายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉลี่ย) อย่างน้อย 200% หรือต้องบอกว่า 2 เท่า โดยเทียบจากเงินลงทุนครั้งแรก

การบำรุงรักษาง่ายไหม?
ควรล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ด้วยน้ำเปล่าและใช้ไม้ม็อบ หรือฟองน้ำทั่วไปในการล้างคราบฝุ่นที่เกาะอยู่บนหน้าแผงโซลาร์เซลล์ หลังจากล้างทำความสะอาด ให้ใช้ไม้รีดน้ำเพื่อป้องกันคราบน้ำบนหน้าแผง โดยความถี่ในการล้างแผง ควรทำอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง หรือตามความเหมาะสม

บ้านแบบไหนที่เหมาะกับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์
1.บ้านที่มีหลังคาลาดเอียงทางทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันตกและทิศใต้สูงสุดในแต่ละวัน เป็นระยะเวลา 8-9 เดือนโดยประมาณ หากมีพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ฝั่งดังกล่าว จะคุ้มค่ากว่าทิศอื่น ๆ

2.บ้านที่มีพื้นที่ว่างสำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์
โดยปกติแล้วก่อนติดตั้ง เจ้าของบ้านควรทราบความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้ารวม เพื่อประเมินได้ว่าควรต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดกี่แผง แต่ละแผงมีสเปกเท่าไหร่ ตัวอย่างแผงโซลาร์เซลล์ของ SCG หากใช้กับบ้านทั่วไปที่มีหลอดไฟ 20 ดวง ทีวี 2 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง (ขนาด 9000 BTU) และตู้เย็น 1 เครื่อง จะต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ 5 แผง ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 10-14 ตร.ม.

3.บ้านที่ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากหรือสำนักงาน
พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ สามารถผลิตได้ช่วงกลางวัน หากการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารสถานที่ มุ่งเน้นการใช้งานกลางวันก็จะช่วยส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเก็บสำรองในแบตเตอรี่ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ จึงคุ้มค่ามากและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสำนักงาน, Home Office, คาเฟ่, ร้านอาหาร ที่โดยปกติจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้สำนักงานจำนวนมาก หรือบ้านไหนมีผู้สูงอายุ มีเด็ก ที่ปกติต้องอยู่บ้านทั้งวันและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็เหมาะสมเช่นกัน

4.บ้านที่กระแสไฟตกบ่อย
แม้ปัจจุบันในประเทศไทย ไฟฟ้าได้เข้าถึงเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่ากระแสไฟฟ้าจะเสถียรทั้งหมด แม้แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ ที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมักเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟตกบ่อยครั้ง การมีพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เองด้วยแผงโซลาร์เซลล์ จึงเป็นเสมือนตัวช่วยประกันความเสี่ยงในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

5.บ้านสวนสนามกว้างสายไฟไปไม่ถึง
โซลาร์เซลล์ไม่ได้มีเฉพาะแบบแผงสี่เหลี่ยมที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาเท่านั้น ยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้งาน อาทิ ไฟตกแต่งสวนโคมไฟโซลาร์เซลล์แบบฝังพื้น โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์แบบปักสนาม ที่สะดวกสำหรับบ้านสนามหญ้ากว้าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องเดินระบบสายไฟออกไกลนอกบ้าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดอันตรายจากการต่อสายไฟออกมากลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
*ในกรณีบ้านที่ไม่เหมาะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพราะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น คือ บ้านที่มีอาคารสูงบังทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก บ้านที่มีพื้นที่หลังคาน้อยหรือโครงสร้างหลังคาไม่รองรับ หรือบ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมีค่าไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน หากติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

3 ระบบโซลาร์เซลล์ที่ต้องพิจารณา
1.ระบบออฟกริด (Off Grid) เหมาะกับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สวน ไร่ฟาร์ม หรือที่ดินตาบอดที่ไม่มีเสาไฟฟ้าผ่านหน้าบ้าน ซึ่งหากลงทุนเดินเสาไฟฟ้าเองจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ระบบ Off Grid มุ่งเน้นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันจะดึงกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์โดยตรง และมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าใช้ในยามค่ำคืน

2.ระบบออนกริด (On Grid) เป็นระบบที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์จะมุ่งเน้นการใช้งานร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หากกระแสไฟฟ้าเหลือเกิน จะถูกแบ่งขายคืนให้กับการไฟฟ้า และหากผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้น้อย จะใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแทน ข้อดีของแบบออนกริด นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้วยังได้กำไรจากการขายกระแสไฟให้ภาครัฐอีกด้วย

3.ระบบ Hybrid Grid เป็นระบบที่ผสมผสานระหว่าง Off Grid และ On Grid เข้าด้วยกัน โดยจะมีความใกล้เคียงกับระบบออนกริด โดยมีจุดแตกต่าง คือ ระบบไฮบริดมีแบตเตอรี่สำรองไว้สำหรับเก็บกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ จึงมีพลังงานไฟฟ้าสำรอง สามารถนำมาใช้ในยามค่ำคืนหรือช่วงเวลากระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับได้ แต่ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟให้กับภาครัฐได้ และเนื่องจากในตอนนี้ ระบบแบตเตอรี่ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนานมาก หรืออาจไม่คืนทุนเลย จึงยังไม่แนะนำให้ติดตั้งในตอนนี้ครับ

เน้นย้ำ 5 ข้อที่ต้องคำนึงให้ดีก่อนตัดสินใจจะติดตั้งโซลาร์เซลล์
1.ติดตั้งระบบไหนดี การติดตั้งโซลาร์เซลล์มีระบบออนกริด (on grid), ออฟกริด (off grid) และไฮบริด (hybrid) ซึ่งแต่ละระบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป หากใช้ไฟมากในตอนกลางวันแบบออนกริดจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด แต่ถ้าต้องการใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แบบออฟกริดจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น แต่หากต้องการมีไฟฟ้าใช้ตลอดทั้งวัน กลางวันและกลางคืน แถมประหยัดค่าไฟได้ด้วยก็ต้องเลือกระบบไฮบริด แต่ค่าติดตั้งและค่าบำรุงรักษาก็จะแพงกว่าระบบอื่น
2.จุดคุ้มทุนกี่ปี ลองเอาค่าไฟรายเดือนที่จ่าย หารด้วยค่าติดตั้งโดยประมาณ จะได้ปีที่ถึงจุดคุ้มทุน จะได้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าคุ้มไหม
3.ปริมาณไฟที่ใช้ต่อวัน ถ้ารู้ว่าแต่ละวันบ้านต้องใช้ไฟประมาณเท่าไหร่ จะสามารถเลือกระบบโซลาร์เซลล์ได้เหมาะสมกับลักษณะการใช้ไฟ จะช่วยลดต้นทุน และช่วยให้ได้ทุนค่าติดตั้งคืนเร็วขึ้น
4.ติดตรงไหนของบ้าน เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ และป้องกันแผงโซลาร์เซลล์ถูกรบกวน รวมถึงให้สามารถรับแสงแดดได้มากที่สุด จึงนิยมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนโครงหลังคาหรือบนดาดฟ้าของอาคาร ซึ่งจะเรียกโซลาร์เซลล์ลักษณะนี้ว่า Solar Rooftop
5.งบประมาณที่ใช้ในการติดตั้ง โดยโซลาร์กูรูแนะนำให้ตั้งเพดานค่าติดตั้งให้กับตัวเองไว้ด้วย ซึ่งหากเป็นการติดตั้งขนาด 5kW ค่าติดตั้งจะอยู่ที่ 190,000-210,000 บาท และหากขยับขึ้นมาอีกนิดที่ขนาด 10kW ราคาจะอยู่ที่ 300,000 บาท โดยประมาณ หากบริษัทรับติดตั้งโซลาร์เซลล์เจ้าไหน คิดราคาคุณมากกว่านี้ ก็โบกมือลาได้เลย…

ขอบคุณข้อมูลจาก @scgbuildingmaterials,@solarcellguru,@qtc-energy