เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูอนุวัตรชินวงศ์ หรือ “หลวงพ่อจอย ชินวังโส” ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอโนนไทย เจ้าอาวาสวัดโนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ได้มรณภาพลงแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 06.00 น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สิริอายุ 84 ปี 22 วัน พรรษา 61 ทั้งนี้ พระครูอนุวัติชินวงศ์ หรือ “หลวงพ่อจอย ชินวังโส” นับเป็นศิษย์เอกของ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทย โดย “หลวงพ่อคูณ” เคยกล่าวไว้กับคนโคราชว่า “หลวงพ่อจอยองค์นี้แหละที่ทดแทนตัวกูได้”

สำหรับประวัติ หลวงพ่อจอย ท่านเป็นชาว อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีนามเดิมว่า วิชิต มานะดี เกิดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2482 วัยเด็กมีนิสัยฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ชอบเข้าวัดฟังธรรม ทำบุญตักบาตร เมื่ออายุ 24 ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสาริกา ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2505 อยู่จำพรรษาที่วัดสาริกา แล้วมาจำพรรษาที่วัดหัวทะเล 1 พรรษา, วัดบ้านไร่ 1 พรรษา และได้เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา พ.ศ. 2514 เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกก ต.ค้างพลู อ.โนนไทย พ.ศ. 2521 เป็นเจ้าคณะตำบลบัลลังก์ พ.ศ. 2526 เป็นเจ้าอาวาสวัดโนนไทย พ.ศ. 2552 เป็นเจ้าคณะอำเภอโนนไทย

“หลวงพ่อจอย” ท่านชอบนั่งสมาธิ เจริญจิตภาวนามาตั้งแต่อุปสมบท เป็นพระที่ชอบสันโดษ ฉันน้อย ไม่ชอบสวมรองเท้า เวลาจำวัดท่านจะหนุนหมอนที่ทำด้วยไม้ เพื่อดำรงสติให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา โดยหมอนไม้นี้ “หลวงพ่อคูณ” ถวายให้ “หลวงพ่อจอย” เคยปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พรรษาแรกที่อุปสมบท จากนั้นท่านก็ไม่ได้สนใจในเรื่องวัตถุมงคล จนมาถึง พ.ศ. 2533 จึงได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นตามคำเรียกร้องของญาติโยมและศิษยานุศิษย์ จำนวน 112 องค์ โดยทำเป็นรูปล็อกเกต เมื่อปี 2533 ปรากฏว่าผู้นำไปแขวนคอได้รับประสบการณ์ทางเมตตา แคล้วคลาด จึงทำเพิ่มอีก 300 องค์ ซึ่งท่านก็ได้มอบให้ญาติโยมและศิษยานุศิษย์ไปจนหมด ต่อมาในปี 2534 คณะศิษยานุศิษย์ได้ขออนุญาตสร้างเหรียญรุ่นแรก ซึ่ง “หลวงพ่อจอย” ปลุกเสกถึง 3 พรรษา โดยในพรรษาสุดท้ายปี 2536 ขณะที่ท่านนั่งอธิษฐานจิตปลุกเสกอยู่นั้น ลูกประคำที่ใช้บริกรรมปลุกเสกได้แตกออกจากกัน เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้วจึงนำมาให้ญาติโยมและคณะศิษย์บูชาในงานประจำปีของวัดโนนไทย เมื่อวันที่ 7-9 ก.พ. 2537 ซึ่งรุ่นนี้ได้รับการขนานนามว่า “รุ่นประคำแตก”

จากนั้นทางคณะกรรมการวัดได้ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญรุ่นคู่บารมี “หลวงพ่อคูณ-หลวงพ่อจอย” ขึ้นในปี 2537 และสร้าง “ตะกรุดโทนและสายคาดเอว” นอกจากนี้ยังมีมงคลวัตถุรุ่นต่างๆ อีกมากมายหลายรุ่นที่ “หลวงพ่อจอย” สร้างขึ้นตามความต้องการของลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส โดยทุกรุ่นท่านจะปลุกเสกจนแน่ใจว่ามีพุทธานุภาพปกป้องคุ้มครองได้ จึงนำออกแจกจ่าย

“หลวงพ่อจอย” ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ส่งเสริมการศึกษา ได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม และแผนกบาลี ขณะเดียวกันยังจัดวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่วนงานด้านการเผยแผ่นั้น “หลวงพ่อจอย” ท่านให้ความสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า และจัดให้มีการสวดมนต์รักษาศีลเจริญภาวนาและการแสดงธรรม จัดงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา งานทอดกฐิน ผ้าป่า วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ตลอดจนงานประเพณีที่สำคัญในแต่ละปีด้วย