เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีมีข่าวการก่ออาชญากรรม โดยต้องสงสัยว่าผู้ต้องหาใช้สารไซยาไนด์ในการก่อเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีญาติผู้เสียหายจำนวนหนึ่งติดใจการเสียชีวิตว่าถูกผู้ต้องหาใช้สารไซยาไนด์ในการก่อเหตุเช่นเดียวกันหรือไม่ ส่งผลให้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีทายาทผู้เสียหายที่เคยรู้จักหรือใกล้ชิดผู้ต้องหาเข้ามาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเป็นจำนวนมาก และเกิดความสงสัยในการสาเหตุการตายของผู้เสียหายว่าอาจถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

กระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุลงพื้นที่แจ้งสิทธิ รับคำขอ และพิสูจน์สิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาหากผู้เสียหายได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย จากการกระทำ ความผิดอาญาของผู้อื่น โดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการกระทำความผิด มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาพ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ดังนี้ กรณีเสียชีวิต ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย 50,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150,000 บาท (เนื่องจากเป็นกรณีอุจฉกรรจ์สะเทือนขวัญ ประชาชนให้ความสนใจ)

ส่วนกรณีบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ไม่อาจประกอบการได้ตามปกติ ไม่เกิน 1 ปี ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดที่เกิดเหตุ พิจารณาเป็นสำคัญ

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวอาจมีความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐานและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ กระทรวงยุติธรรมมีกองทุนยุติธรรมที่จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีให้แก่ผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตได้ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตรวจพิสูจน์ ค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่ง หรือทางแอปพลิเคชัน “ยุติธรรมใส่ใจ(Justice Care)”

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 มาตรา 5(4) ได้เปิดกว้างให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ติดใจสาเหตุการตาย สามารถติดต่อขอรับการตรวจชันสูตรซ้ำได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส อำนวยความยุติธรรม และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ได้มุ่งเน้นถึงกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ซึ่งจากสถิติการตรวจพบไซยาไนด์ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบจำนวน 4 คดี ได้แก่ ปี 63​ จำนวน 1 คดี​ ปี ​64 จำนวน​ 2 คดี​ และปี​ 65 จำนวน​ 1 คดี.