พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา จะจัดขึ้น ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 6 พ.ค. 2566 อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี จะเป็นผู้นำประกอบพระราชพิธีในครั้งนี้ สะท้อนถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่อนาคต ขณะเดียวกันจะธำรงไว้ ซึ่งธรรมเนียมและพระราชพิธีดั้งเดิม

งานพระราชพิธีจะสะท้อนภาพลักษณ์ของสหราชอาณาจักร ที่มีความทันสมัย มีความแตกต่างหลากหลาย และเป็นพหุวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมธีมเยาวชน ความเป็นชุมชน ความแตกต่างหลากหลาย และความยั่งยืน อันเป็นหัวข้อที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสนพระราชหฤทัย


งานพระราชพิธีในครั้งนี้จะนำเสนอบทบาทตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะพระประมุขของสหราชอาณาจักร และประเทศในเครือจักรภพ

The Coronation Weekend
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้จะจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค. โดยมีรายละเอียดของงานในแต่ละวัน ดังต่อไปนี้


เสาร์ที่ 6 พ.ค. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา จะจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 6 พ.ค. 2566 อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี จะเป็นผู้นำประกอบพระราชพิธี


ทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังบักกิงแฮมยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยรถม้าพระที่นั่ง Diamond Jubilee State Coach โดยรถม้านี้ประกอบขึ้น เมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อปี 2555 รถม้าพระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับองค์พระประมุขสหราชอาณาจักร และประมุขแห่งรัฐอื่นที่เดินทางเยือนเท่านั้น


ด้านบนของรถม้าพระที่นั่ง Diamond Jubilee State Coach เป็นรูปมงกุฎที่สร้างขึ้นมาจากไม้โอ๊คของเรือรบหลวง HMS Victory
ด้านในของรถพระที่นั่งเลี่ยมด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งไม้ เหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ จากอาคารและสถานที่ที่ความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เช่น พระตำหนักและพระราชวังต่างๆ เช่น พระราชวังบักกิงแฮม พระราชวังวินด์เซอร์ พระราชวังเคนซิงตัน และพระราชวังฮอลีรูด ( Palace of Holyroodhouse ) มหาวิหาร เช่น มหาวิหารเซนต์พอล และมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ รวมทั้งเรือในประวัติศาสตร์อย่างเรือ แมรี โรส รถม้าพระที่นั่งนี้ใช้ม้าสีเทาฝึกพิเศษที่เรียกว่า Windsor Grey 6 ตัว ในการลากรถ

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงฉลองพระองค์คลุม ที่เรียกว่า Robe of State ฉลองพระองค์กำมะหยี่สีแดงอมม่วง ( crimson velvet )


สำนักพระราชวังสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ในพระราชพิธีครั้งนี้ ฉลองพระองค์คลุมของทั้งสองพระองค์จะเป็นองค์เดียวกับที่พระอัยกา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เคยทรงในพระราชพิธีเมื่อปี พ.ศ. 2480 และองค์เดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยทรงในพระราชพิธีเมื่อปี พ.ศ. 2496 ตามลำดับ


เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงจะมีการบรรเลงดนตรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงคัดสรรมาด้วยพระองค์เอง ทั้งยังโปรดให้มีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ถึง 12 เพลง และมีดนตรีแบบกรีกออร์โธดอกซ์เพื่อรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดา โดย 6 จาก 12 เพลงจะบรรเลงขึ้นก่อนพระราชพิธีและก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินถึง


พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน

  1. ขั้นตอนรับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ (Recognition)
    ขั้นตอนนี้จะมีการประกาศแนะนำพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อปวงชน สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงพระดำเนินมายังโถงกลาง ของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ข้างพระราชบัลลังก์ราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งทรงมีพระบัญชาให้สร้างบัลลังก์นี้ขึ้น เพื่อใช้บรรจุหิน Stone of Destiny จากสกอตแลนด์ พระราชบัลลังก์ราชาภิเษก (Coronation Chair) เป็นเครื่องเรือนอายุเก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ซึ่งยังถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมอยู่

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีประกาศ รับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต่อแท่นบูชาสูง จากนั้นตามด้วย Elish Angiolini หรือ Lady Angiolini ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ธิสเซิล และ Valerie Ann Amos หรือ Baroness Amos ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ โดยจะเป็นครั้งแรกที่ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสกอตแลนด์และอังกฤษ ได้ทำหน้าที่นี้ ตามด้วย Christopher Finney ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จอร์จครอส เป็นผู้แทนเหล่าทัพประกาศรับรอง


หลังการประกาศรับรอง ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีจะเปล่งเสียงขึ้นพร้อมกันว่า God Save the King และจะมีการเป่าแตรหลังการกล่าวถวายความจงรักภักดีทุกครั้ง

  1. ขั้นตอนการทรงกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ Oath
    ในขั้นตอนนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะทรงครองราชย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายและพิทักษ์ศาสนจักรของอังกฤษ โดยข้อความในการถวายสัตย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษ สมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงประกาศ ว่าจะทรงครองราชย์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะทรงธำรงความยุติธรรมด้วยพระเมตตา รวมทั้งจะทรงธำรงรักษาไว้ซึ่งศาสนจักรอังกฤษ
  2. ขั้นตอนการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ Anointing
    ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนซึ่งธำรงความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ของหมู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งหมด โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงถอดฉลองพระองค์คลุมและประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษก โดยในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนเดียว ที่ไม่ให้สาธารณชนและแขกซึ่งเข้าร่วมงานได้ชม โทรทัศน์จะไม่ทำการถ่ายทอดในช่วงนี้
    ระหว่างพระราชพิธี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะเทน้ำมันราชาภิเษก ออกจากภาชนะรูปอินทรีทำจากทองคำ ลงบนช้อนราชาภิเษก ก่อนจะเจิมน้ำมันดังกล่าวบนพระนลาฏ ( หน้าผาก ) พระอุระ ( หน้าอก ) และที่พระหัตถ์ ( มือ ) ทั้งสองข้างของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
    ช้อนราชาภิเษกเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ในหมู่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมดของสหราชอาณาจักร มีการใช้ช้อนราชาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรื่อยมา ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2146

ด้วยความสนพระราชหฤทัยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน น้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีครั้งนี้จะไม่มีส่วนผสมของน้ำมันที่มาจากสัตว์ โดยจะมีส่วนผสมจากน้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันกุหลาบ น้ำมันมะลิ น้ำมันอบเชย น้ำมันน้ำมันจากดอกส้ม น้ำมันกำยาน และน้ำมันอำพัน ต่างจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีส่วนผสมของน้ำมันจากวาฬและชะมดด้วย


เนื่องจากเป็นพระราชพิธีที่จะไม่ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานหรือสาธารณชนได้เห็น ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีการนำผ้าคลุมลักษณะคล้ายโดมมากั้น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้มีการปรับฉากผ้าคลุมลักษณะคล้ายโดมเป็นฉากบังตา
โรงเรียนช่างปักหลวง ( Royal School of Needlework ) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการรังสรรค์ลวดลายบนฉากบังตาเป็นต้นไม้ที่มี 56 ใบ สื่อถึงประเทศในเครือจักรภพ โดยมีตราลัญจกรอยู่ที่ฐานของต้นไม้สื่อว่าพระองค์ทรงงานในฐานะประมุขเพื่อพสกนิกร

ฉากนี้ใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนในการทอ ไม้ที่นำมาทำเป็นกรอบของฉากมาจากต้นไม้ที่ถูกลมพัดโค่นในพื้นที่พระราชวังวินด์เซอร์ ด้านบนของเสามีรูปหล่อนกอินทรี แบบเดียวกันกับที่ยอดผ้าคลุม ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

  1. ขั้นตอนการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ Investiture
    อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระภูษาคลุมสีทอง ลูกโลกประดับกางเขน พระธำมรงค์ คทา อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ให้สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
    ลูกโลกประดับกางเขนสีทองเป็นสัญลักษณ์โลกคริสเตียนโดยสายอัญมณี เป็นเส้นแบ่งโลกออกเป็นสามส่วนตามทวีปสามทวีปตามความเชื่อโลกยุคกลาง

พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด เป็นพระมหามงกุฎสำคัญและเก่าแก่ที่สุดในหมู่พระมหามงกุฎทั้งหมด และจะมีการนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2204 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพื่อทดแทนพระมหามงกุฎในยุคกลางที่ถูกทำลาย โดยกลุ่มนิยมรัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. 2192

  1. ขั้นตอนการประทับบนพระราชบัลลังก์ Enthronement
    เป็นขั้นตอนที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ประทับบนพระราชบัลลังก์
  2. ขั้นตอนการรับการถวายความเคารพ Homage
    เป็นขั้นตอนที่จะทรงรับการถวายความเคารพจากเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์
    จากนั้น พระราชินีจะทรงรับการสวมพระมงกุฎเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงเลือกมงกุฎพระราชินีแมรี สำนักพระราชวังสหราชอาณาจักรระบุว่าในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะไม่มีการทำพระมงกุฎขึ้นมาใหม่ แต่นำพระมงกุฎที่เคยผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วมาใช้อีกครั้ง สมเด็จพระราชินีจะทรงผ่านพระราชพิธีในขั้นตอนที่น้อยกว่า ในขั้นตอนนี้ หากองค์พระประมุขเป็นสตรี พระสวามีจะทรงไม่ได้รับการสวมมงกุฎหรือเจิม

เมื่อประกอบพระราชพิธีเสร็จ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสวมพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท แทนที่พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งพระมหามงกุฎนี้ใช้ในรัฐพิธีอื่น ๆ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินเปิดรัฐสภา

ทั้งสองพระองค์จะเสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่ง Gold State Coach ร่วมขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พร้อมด้วยบรรดาเหล่าทัพจากสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพ เสด็จพระราชดำเนินจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์กลับยังพระราชวังบักกิงแฮม ขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลับจะมีขนาดใหญ่กว่าขบวนที่เสด็จพระราชดำเนินมา


รถม้าพระที่นั่ง Gold State Coach เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2303 และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงรถม้าพระที่นั่งนี้เพื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภาในปีพ.ศ. 2305 นับจากนั้น มีการใช้รถม้าพระที่นั่งนี้ในทุกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2374

รถม้าพระที่นั่งสีทองนี้มีน้ำหนักถึง 4 ตันและต้องใช้ม้าสีเทาฝึกพิเศษที่เรียกว่า Windsor Grey ถึง 8 ตัว ในการลากรถ รถม้าพระที่นั่งนี้ปรากฎต่อสาธารณะครั้งสุดท้าย คืองานพระราชพิธีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี

หลังเสด็จพระราชดำเนินถึงพระราชวังบักกิงแฮม ทั้งสองพระองค์จะเสด็จออกสีหบัญชร


อาทิตย์ที่ 7 พ.ค. จะมีการจัดงานคอนเสิร์ตพิเศษขึ้นที่พระราชวังวินด์เซอร์ โดยมีการแจกตั๋วให้สาธารณะได้เข้าชม ผ่านการจับสลาก นอกจากนี้ หลายหน่วยงานในสหราชอาณาจักร รวมทั้งภาคประชาชนร่วมกันจัดงานเลี้ยงอาหารเที่ยง โดยร่วมกันแบ่งปันอาหารและเสียงหัวเราะร่วมกัน เรียกว่างาน The Big Lunch

วันจันทร์ที่ 8 พ.ค. เป็นวันหยุดพิเศษในสหราชอาณาจักร หลายหน่วยงานจะร่วมกันจัดงานอาสาสมัคร The Big Help Out.

เครดิตภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย, GETTY IMAGES