ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริณฑล ประจำไตรมาส 1/2566 พบภาพรวมค่าดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้น 13.1%  โดยพบว่าที่ดินชานเมืองยังคงอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ดินในเมือง  เนื่องจากมีการขยายการลงทุนพัฒนาโครงการในแถบชานเมือง เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลให้ราคาที่ดินเปล่าในย่านที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ราคาปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าจังหวัดปริมณฑลเป็นโซนที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาสูงกว่าโซนในเมือง และในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากฐานราคาซื้อขายค่อนข้างต่ำ หากแยกเป็นทำเลของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

  • อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินในโซนจังหวัดนครปฐม มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึงร้อยละ 68.2
  • อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 52.4  เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนจังหวัดสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 39.1
  • อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ  28.7
  • อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565

นอกจากนี้ REIC ได้จัดอันดับที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาตามแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน พบว่าเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรก ที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พบว่าส่วนใหญ่เป็นทำเลโครงการบ้านจัดสรร หรือเป็นส่วนต่อขยายของแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • อันดับ 1 ได้แก่ สายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) เป็นเปิดให้บริการแล้ว มีค่าดัชนีเท่ากับ 420.8 จุด มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยบริเวณที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอบางบัวทอง
  • อันดับ 2 ได้แก่ สายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) เป็นโครงการในอนาคต มีค่าดัชนีเท่ากับ 339.8 จุด มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยบริเวณที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก คือ อำเภอลำลูกกา
  • อันดับ 3 ได้แก่ สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต)  เปิดให้บริการแล้ว มีค่าดัชนีเท่ากับ  446.5 จุด และ 439.6 จุด ตามลำดับ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยบริเวณที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก คือ เขตดอนเมือง เขตบางเขน และอำเภอคลองหลวง
  • อันดับ 4 ได้แก่ MRT เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เป็นโครงการในอนาคต มีค่าดัชนีเท่ากับ 474.0 จุด และ 466.6 จุด ตามลำดับ โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)  โดยบริเวณที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก  คือ เขตจตุจักร ห้วยขวาง และราชเทวี  
  • อันดับ 5 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) เป็นโครงการในอนาคตมีค่าดัชนีเท่ากับ 441.1 จุด มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยบริเวณที่มีการปรับราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร และบางขุนเทียน