เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 5 พ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษาสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 :ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้ง และผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่งผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 14,332 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการ ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

ที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 24.7 หรือ ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตาม

ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ยังคงครองภาคอีสานและภาคเหนือ โดยภาคอีสาน ได้จำนวน ส.ส.เขต ทั้งสิ้น 57 ที่นั่ง และภาคเหนือ 24 ที่นั่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 111 ที่นั่ง

ขณะที่ ภูมิใจไทย กระจายไปตามภาคต่างๆ ดังนี้ ภาคอีสาน ได้ 36 ที่นั่ง, ภาคกลาง 26 ที่นั่ง, ภาคตะวันตก และภาคใต้ ได้ภาคละ 10 ที่นั่ง, ภาคตะวันออก ได้ 6 ที่นั่ง, ภาคเหนือ ได้ 5 ที่นั่ง และ กทม. ได้ 3 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 96 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล กระจายไปตามภาคต่างๆ ดังนี้ ภาคอีสาน ได้ 23 ที่นั่ง กทม. ได้ 10 ที่นั่ง ภาคกลาง ได้ 5 ที่นั่ง และภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 40 ที่นั่ง

เมื่อนำผลการประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกับ จำนวนที่นั่งของ ส.ส.เขตเลือกตั้ง พบว่า

พรรคเพื่อไทย ได้จำนวน 139 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 114 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 164 ที่นั่ง, รองลงมา คือ ภูมิใจไทย ได้จำนวน 112 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 87 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 137 ที่นั่ง, อันดับ 3 ก้าวไกล ได้จำนวน 63 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 38 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 88 ที่นั่ง

อันดับ 4 พลังประชารัฐ ได้จำนวน 61 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 36 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 86 ที่นั่ง, อันดับ 5 ประชาธิปัตย์ ได้จำนวน 49 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 24 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 74 ที่นั่ง, อันดับ 6 รวมไทยสร้างชาติ ได้จำนวน 46 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 21 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 71 ที่นั่งอันดับ 7 พรรคอื่นๆ ได้จำนวน 30 ที่นั่ง จำนวนต่ำสุด 5 ที่นั่ง และจำนวนสูงสุด 55 ที่นั่ง

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า โดยภาพรวมผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่า ไม่มีพรรคใดจะได้แลนด์สไลด์ แม้แต่ในพื้นที่ภาคอีสานที่พรรคเพื่อไทยเคยได้สูงสุด ผลการศึกษาครั้งนี้กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นตัวแบ่ง โดยสามารถช่วงชิงเก้าอี้ภาคอีสานได้ถึง 20 ที่นั่งจากเพื่อไทยเดิม โดยซูเปอร์โพลก็จะเก็บข้อมูลต่อเนื่องไปจนถึงวันปิดหีบและจะมีการเปิดเผยผลสำรวจ หลังปิดหีบแล้ว การที่พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เป็นเพราะนโยบายโดนใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่นิยมก้าวไกลจะแรงกว่าคนรุ่นใหม่ที่นิยมเพื่อไทย คะแนนคนรุ่นใหม่เทไปพรรคก้าวไกลถึงร้อยละ 60 และคนรุ่นใหม่ที่เคยเลือกเพื่อไทยก็เปลี่ยนมาเลือกก้าวไกล จากนโยบายและคำพูดที่โดนใจ แต่ที่น่าสนใจคือฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ความนิยมภูมิใจไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มีภาพลักษณ์ใจดีชอบช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ผู้สูงอายุ และนโยบายไม่ได้แจกเงินอย่างเดียว แต่ส่วนของพรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ความนิยมค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่แล้ว ผลสำรวจยังสอบถามว่า อยากได้ใครเป็นนายกฯ พบว่าคะแนนนิยมนายอนุทิน และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความสูสีกันมาก นายอนุทินนำแค่ 0.5 อย่างไรก็ตามผลสำรวจครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่าพร้อมเปลี่ยนใจร้อยละ 30  และยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 15

ขณะที่ ศาสตราจารย์ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสพรรคก้าวไกล ที่มาแรงขึ้นมาใน 2 สัปดาห์สุดท้าย เป็นการบอกชัดเจนว่ากระแสมีความสำคัญ ดังนั้นถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อดึงคะแนนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. มีโอกาสที่ขั้วอนุรักษ์นิยมแพ้สูง คือ ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนโอกาสที่เพื่อไทยแลนด์สไลต์เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากกระแสความนิยมเป็นเช่นนี้การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งฝ่ายเสรีประชาธิปไตย นำโดยเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยมีก้าวไกล ประชาชาติเข้าร่วม แต่เชื่อว่าสูตรนี้จะมีโอกาสทำให้ก้าวไกลขี่คอเพื่อไทยเลือกกระทรวงสำคัญแน่นอน ดังนั้นให้จับตาสัปดาห์สุดท้ายพรรคการเมืองต่างๆ จะมีหมัดเด็ดอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้หมดหลังการเลือกตั้ง ทั้งจากฝ่ายอนุรักษนิยม จัดตั้งรัฐบาลโดยผู้จัดตั้งรัฐบาลจะใช้คะแนน 126 เสียง บวก ส.ว. 250 เสียง ไม่เกิน 376 เสียง ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่อยู่สัปดาห์สุดท้ายในการเลือกตั้ง ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะขับเคลื่อนได้แรงมากขนาดไหน ถ้าไม่แรงก็แพ้ หรือแนวทางที่เกริ่นไว้ก่อนหน้าที่เพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่โอกาสแลนด์สไลด์ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก แต่หากจะให้เสถียรภาพทางรัฐบาลมั่นคง เพื่อไทยอาจจะจับมือก้าวไกลตั้งรัฐบาลแล้วดึงประชาชาติเข้ามา