เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 7-16 พ.ค. 66 อัปเดต 2023050612 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) โดยกล่าวว่า

วันนี้ (7 พ.ค. 66) บริเวณประเทศไทยตอนบนกลางวันยังร้อนและร้อนจัดหลายพื้นที่ แต่ยังพอมีฝนบางแห่ง ลมตะวันตกยังพัดปกคลุม ยังต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยฝนจะเริ่มมาหลังเที่ยงคืนวันนี้ทางตะวันออกของภาคอีสาน ทิศทางลมเริ่มแปรปรวน

ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันเริ่มมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม และยังมีลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ทำให้มีฝนบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง พี่น้องชาวเรือ ชาวประมง เดินเรือด้วยความระวัง ช่วง 8-13 พ.ค. 66 เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คาดว่าจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมกระโชกแรง ทิศทางลมแปรปรวน

เนื่องจากจะมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางภาคอีสานตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนและร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศทั้งสองในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. 66 ต้องเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บ

ด้านทะเลอันดามันเริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลม เป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ (พัดจากทะเลอันดามัน เข้าสู่ฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก) กลุ่มฝนจะเริ่มเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันตก ไปทางตะวันออก

และคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้น มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนได้ เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ เข้าสู่ประเทศเมียนมา ในช่วงวันที่ 12-14 พ.ค.66 และอาจจะส่งผลกระทบต่อทางด้านตะวันตกของไทย (ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน) ในช่วงที่พายุเคลื่อนขึ้นฝั่ง

และตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะแรงขึ้น ต้องเดินเรือด้วยความระวัง ในระยะนี้หากมีฝนตกควรหาวิธีกักเก็บและสำรองน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย ซึ่งมีแนวโน้มช่วงฤดูฝนปีนี้ฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ ต้องติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)….

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @กรมอุตุนิยมวิทยา