สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ว่า นิยามของปรากฏการณ์ “คลื่นความร้อน” ตามที่ระบุโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) คือภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวัน เกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส นานต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน


ส่วนคำว่า “Monster Asian Heatwave” หรือ “ปิศาจคลื่นความร้อนเอเชีย” คือการให้นิยามใหม่ ของการที่คลื่นความร้อนทำลายสถิติในอดีต ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชากรในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นมากถึง 1 ใน 3 ของโลก โดยจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญและสื่อหลายสำนักที่มีการรวบรวมมานั้น ประเทศซึ่งได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว รวมถึง ไทย เมียนมา ลาว อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เนปาล สิงคโปร์ บังกลาเทศ และพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน


ทั้งนี้ จังหวัดตากของไทย มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียงกับไทยอีกหลายแห่ง มีอุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ไม่แพ้กัน ล่าสุดสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของเวียดนาม รายงานการวัดอุณหภูมิในประเทศได้ 44.1 องศาเซลเซียส ที่สถานีฮอยซวน ในจังหวัดทัญฮว้า ตั้งอยู่ริมชายฝั่งภาคกลางตอนบนของประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา


นอกจากนั้น ดับเบิลยูเอ็มโอคาดการณ์แนวโน้มที่โลกจะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ภายในเดือน ก.ค. นี้ ไว้ที่ “60%” และคาดการณ์การเกิดเอลนีโญภายในเดือน ก.ย. ที่จะถึง อยู่ที่ “70%-80%” ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเปลี่ยนแปลง “ครั้งสำคัญ” ให้กับรูปแบบของสภาพอากาศโลก


แม้จนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถเจาะจงได้ เกี่ยวกับความรุนแรงและระยะเวลาของปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ทุกภาคส่วนบนโลก ต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม รับมือกับอุณหภูมิซึ่งจะสูงขึ้นอีก


อนึ่ง เอลนีโญระหว่างปี 2557-2559 ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์รุนแรงที่สุดซึ่งโลกเคยเผชิญ ส่งผลให้ปี 2559 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงสุด ทว่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน.

เครดิตภาพ : AFP