เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึง ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทุกคนทุกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในครั้งนี้ ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลได้ 152 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 141 ที่นั่ง ถือว่าเป็นผลการเลือกตั้งจริงๆ ที่มีความใกล้เคียงกับการผลโพลเดลินิวส์ x มติชน ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง ที่ระบุชัดเจนว่า คนจะเลือกพรรคก้าวไกล มาเป็นลำดับที่ 1 และเลือกพรรคเพื่อไทย มาเป็นลำดับที่ 2

“โพลของเรานั้น สำรวจความคิดเห็นผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน ใน 2 ช่วงเวลาด้วยกัน มีผู้อ่านกว่า 1.5 แสนรายชื่อ ตอบแบบสำรวจ ผลโพลชี้ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกล จะชนะการเลือกตั้ง และเมื่อผลการเลือกตั้งจริงๆ ออกมาก็เป็นอย่างนั้น เราในฐานะสื่อมวลชน ก็รู้สึกยินดีที่เป็นพื้นที่แสดงออก แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้อ่านทุกเพศทุกวัยด้วย โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะธำรงความเป็นสื่อมวลชน เป็นสถาบันสื่อที่นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาแบบครบถ้วนรอบด้านต่อไป” นายปารเมศ กล่าว

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัล มีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บ่งชี้ว่าผลโพลเลือกตั้ง ’66 ที่เครือมติชนและเครือเดลินิวส์ ร่วมกันจัดทำทั้งสองครั้งนั้น มีความน่าเชื่อถือได้ เพราะโพลของทั้งสองสื่อคือโพลการเมืองโพลแรกที่ระบุชัดว่า พรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่ง ในการเลือกตั้งคราวนี้ แม้โพล มติชน x เดลินิวส์ จะเป็นโพลออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการในลักษณะตามระเบียบวิธีวิจัยทางวิชาการแบบครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ช่วยยืนยันว่า วิธีการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในรูปแบบนี้ ก็มีความแม่นยำ และสามารถสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนออกมาได้จริงๆ

ผู้บริหารมติชน ระบุว่า แม้โพล “มติชน x เดลินิวส์” จะมีกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ได้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียทีเดียว เช่น มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีรายได้สูง 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างเยอะ แต่ผลโพลก็ยังมีความสอดคล้องกับผลเลือกตั้งจริง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า เจตจำนงทางการเมืองที่ประชาชนคนไทยมีร่วมกันนั้น เป็นกระแสที่ยิ่งใหญ่ไพศาล และตัดผ่านความแตกต่างของประชากรหลายๆ กลุ่ม ดังนั้น ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในสังคม จึงไม่ควรต่อต้านขัดขืนเจตจำนงที่เข้มแข็งดังกล่าว