เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าจากกรณีที่มีกระแสข่าวสับสนเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ที่จริง เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ยังไม่มีการเรียกประชุม ส.ส. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว อีกทั้งข่าวที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีการส่งคนไปเจรจาพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อร่วมรัฐบาลนั้น เป็นข่าวบิดเบือน เป็นข้อมูลเท็จที่ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเราต้องทำตามระบบและข้อบังคับพรรค ที่ระบุว่าต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค กับ ส.ส. เพื่อพิจารณาและมีมติว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือจะถอนจากการร่วมรัฐบาล ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรค แสดงความเห็นให้ลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หรือมีความพยายามให้ไปร่วมกับพรรคนั้นพรรคนี้ นั่นเป็นความเห็นส่วนบุคคล รวมถึงข่าวที่ว่าเราไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีใครสามารถดำเนินการได้คนเดียวเช่นกัน

นายราเมศ กล่าวอีกว่า สำหรับพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งและกำลังจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่เราไม่ก้าวล่วงหรือคัดค้านในสิ่งที่พรรคก้าวไกลและพรรคอื่นที่เข้าร่วมรัฐบาลพูดคุยกัน เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ 24 ที่นั่ง ส่วนการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะอุดมการณ์ของพรรคนิยมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้พรรคก้าวไกลจะมีความพยายามสื่อสารไปยังประชาชนว่าเป็นการแก้ไข ไม่ยกเลิก แต่ตนอยากให้ประชาชนศึกษารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่นายพิธาและพรรคก้าวไกล ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า เนื้อหามีความชัดเจนว่าให้ยกเลิกมาตรา 112

โดยมาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติว่าให้มีการยกเลิกบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่บทบัญญัตินี้ไม่สามารถทำร้ายใครได้ หากพฤติกรรมผู้ทำผิดไม่ได้ส่อไปในการทำผิด อีกทั้ง พรรคก้าวไกลโจมตีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา หลายครั้งว่าตีตกไป ไม่ให้เข้าสู่บรรจุวาระการพิจารณาของสภ ซึ่งตนยืนยันว่าเป็นการบิดเบือนอย่างมาก เพราะเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 64 นายพิธาได้เสนอร่างต่อประธานสภา ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่สำนักเลขาธิการสภา ตรวจสอบพบมีข้อบกพร่อง จึงแจ้งให้นายพิธาถอนร่างไปแก้ไข แต่พรรคก้าวไกลเสนอมาอีกในวันที่ 25 มี.ค. 64

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 64 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า ไม่ปรากฏความประสงค์ชัดว่าเสนอฉบับใด จึงแจ้งนายพิธาอีกครั้ง กระทั่งวันที่ 21 เม.ย. 64 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ได้แจ้งให้นายพิธาทราบเพื่อให้แก้ไขข้อบกม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 28-29/ 2555 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 19/2564 ที่ว่ามาตรา 112 ไม่ลักษณะที่ขัดหรือแย้ง และไม่มีลักษณะที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า กรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ว่าแพ้การเลือกตั้งตลอด มีการเหยียดหยามด้อยค่าคนแพ้นั้น หากย้อนไปตอนที่นายวิโรจน์แพ้ในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราไม่เคยทับถมด้อยค่านายวิโรจน์ เพราะถือเป็นมติของประชาชน

“ผมเชื่อพ่อแม่คุณวิโรจน์สั่งสอนมาดี แต่ด้วยตัวเองที่ลักษณะสันดานดิบ ชอบด้อยค่า กร้าวร้าวคนอื่น ปากอ้างประชาธิปไตย แต่พูดแต่ละคำมีแต่เสียดสี ผมไม่เรียกร้องให้ดัดนิสัย เพราะเขาพูดแบบนี้บ่อยครั้งอยู่แล้ว” นายราเมศ กล่าว

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า แม้เรามี ส.ส. 24 คน แต่การทำหน้าที่ในสภา ทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งเรื่องผลักดันนโยบายที่ประกาศ และการออกกฎหมายต่างๆ เราก็จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่น เป็นเรื่องของอนาคต แต่การทำหน้าที่ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มกัน เพราะพรรคที่เหลือจากการร่วมรัฐบาลก็ต้องมาเป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว

นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า เวลานี้ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเข้าสู่กระบวนการสถาบันการเมือง เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค จึงต้องเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยจะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ในวันที่ 24 พ.ค. 66 เพื่อหารือถึงแนวทางการเลือกหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ครั้งนี้ จะเป็นความหวังให้ทุกคน พร้อมใจกันจับมือให้พรรคประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้าได้ แล้ววันหนึ่งเราจะกลับมา แม้เราแพ้การเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายว่าต้องปิดพรรค เราอยู่มา 77 ปี มีศักดิ์ศรี นโยบายอาจไม่หวือหวา แต่ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจะเป็นคำตอบให้ประชาชนว่า สิ่งดีๆ ที่ทำมาไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

เมื่อถามว่าประเมินผลการเลือกตั้งของพรรคที่ได้มาเพียง 24 เสียงอย่างไร นายราเมศ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะสรุปผลการเลือกตั้ง โดยต้องดูแต่ละพื้นที่ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้เกือบทุกจังหวัด ยังเห็นกระบวนการซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งนี้ขอยืนยันว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมีมูลค่ามากกว่าเงินซื้อเสียง 500 บาท นอกจากนี้ เราจะต้องมีการวิเคราะห์กันด้วยว่าการดำเนินการกิจกรรมในทางข้างหน้า เราจะทำอย่างไรในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

เมื่อถามว่ามั่นใจใช่หรือไม่ว่าผู้ที่ได้รับชัยชนะได้เป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการซื้อเสียงเลย นายราเมศ กล่าวว่า มั่นใจและถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจพบว่ามีคนของพรรคประชาธิปัตย์มีการซื้อเสียง ก็ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย นักการเมืองที่ทุจริตถ้ามีหลักฐานยืนยัน ตนก็สนับสนุนว่าถ้าทำผิด ก็ต้องติดคุก