หากมองในด้านเทคนิคการทอการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าก็มากไปด้วยเรื่องน่ารู้ ทั้งนี้ชวนค้นเสน่ห์ “ผ้าซิ่น” ชวนมองรอบด้านผืนผ้าทั้งในด้านการทอ การสวมใส่ โดยนำความรู้จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งให้ความรู้ในประเด็นนี้ว่า การผลิตผืนผ้านับแต่อดีต กว่าจะได้ผ้าสักผืนใช้เวลา ทั้งมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน นับแต่การปลูกฝ้าย การเลี้ยงไหม อย่างเช่น ฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทอผ้าที่ใช้กันทั่วไปในครั้งอดีต โดยก่อนจะนำมาทอเป็นผืนผ้าจะเก็บฝ้ายมาหีบ นำมาปั่นเป็นเส้นฝ้าย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลามุ่งมั่นตั้งใจทอเพื่อให้คนในครอบครัวได้มีผ้าใช้ในการนุ่งห่ม ทุกขั้นตอนของผืนผ้ากว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นภูมิปัญญาด้านสิ่งทอที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

 ปัจจุบันเรามีผืนผ้าหลากหลายรูปแบบ สามารถเลือกนำมาใช้ได้ง่าย แต่ในอดีตไม่เป็นเช่นนั้น ผ้ มีค่าเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันและสำหรับ ผ้าซิ่น ถือเป็นงานศิลป์เคลื่อนที่ที่บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ผ่านลวดลายและสีสันผืนผ้า โดยผ้าหนึ่งผืนเล่าเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต คติความเชื่อ ในด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาการทอผ้า การสร้างสรรค์ลวดลาย ฯลฯ ก็ถ่ายทอดไว้อย่างชัดเจน

“ผ้าซิ่น ในความหมายเป็นผ้านุ่งที่ใช้กันทางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนทางภาคกลางมีโจงกระเบน ผ้าถุงใช้สำหรับนุ่ง หรือในกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยวน ไทพวน ไทลื้อ ฯลฯ จะเรียกผ้าซิ่นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผ้าซิ่นเป็นผ้าทอ เป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์

ผ้าซิ่น มีวิธีการทอได้หลายรูปแบบ นอกจากนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในโอกาสพิเศษ งานบุญ งานมงคลต่าง ๆ ก็จะนุ่งซิ่นโดยลวดลายบนผ้าซิ่นจะมีรายละเอียดต่างกัน”

ในมิติด้านการทอ ผ้าซิ่นมีทั้งในลักษณะทอเป็นผืนผ้าเดียวกัน และมีการต่อตัวซิ่น จะมีส่วนหัว ตัว และตีนซิ่น โดยบางกลุ่มชาติพันธุ์จะมีส่วนหัวและตัวซิ่น ส่วนตีนซิ่นอาจเป็นการทอติดไปกับผืนผ้าก็มีได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน สำหรับผ้าซิ่นที่คุ้นได้แก่
ซิ่นตีนจก โดยผ้าทอดังกล่าวจะมีทั้งสามส่วนของผ้าซิ่นชัดเจน ส่วนที่สำคัญคือ ตีนซิ่น และที่เรียกซิ่นตีนจกก็ด้วยที่ตีนซิ่นเป็นจก ใช้เทคนิคการทอด้วยการจก เป็นเทคนิคการสร้างลาย

โดยถ้าเปรียบให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ จะเหมือนการปักผ้า แต่การปักจะนำผ้าที่เป็นผืนมาปัก แต่การจกจะปักโดยที่ยังไม่มีเนื้อผ้าจะค่อย ๆ ใช้เส้นด้ายสอดผสานใส่ไปทีละแถวทีละแนว จนเกิดเป็นลวดลาย โดยทุกขั้นตอนละเอียดพิถีพิถันใช้ระยะเวลาในการสร้างสรรค์

ส่วนตัวซิ่นโดยเทคนิคการสร้างสรรค์จะมีทั้ง การทอยก มัดหมี่ และขิด ผืนผ้าซิ่นแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีความต่างกัน อย่างเช่น ไทพวน ไทยวนมีความคล้ายคลึงกัน ตีนซิ่นจะเป็นจก ขณะที่ตัวซิ่นเป็นการทอยกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลาวครั่ง ลาวเวียง เป็นมัดหมี่ ขิด หรือบางผืนผ้ามีทั้งสามเทคนิครวมกัน ส่วนหัวซิ่นที่นิยมจะมีสีขาว สีแดง ทั้งนี้ในลวดลายการสร้างสรรค์จะมีเอกลักษณ์ มีรายละเอียดต่างกัน ซึ่งล้วนแต่น่าศึกษาและสืบสานรักษา

“ลายทอทางเหนือจะมีความนิยมในเรื่องของ นาค หงส์ มีลายเชียงแสน ลายโคม ฯลฯ ที่มีอัตลักษณ์มีความพิเศษของลวดลาย อย่างเช่น ซิ่นลับแลงแซงผีเงือก เป็นผ้าทอของชาวไทยวน อุตรดิตถ์ ผืนผ้ามีตำนานกล่าวถึง ผีเงือกซึ่งปลอมมาเป็นชาวบ้านโดยมาขอยืมฟืม ซึ่งฟืมก็คือเครื่องมือทอผ้านำไปทอ โดยเมื่อนำมาคืนก็มาพร้อมกับลายผ้าที่เหลืออยู่จึงได้มีการแกะลาย ได้เป็นลวดลายดังกล่าว”

อีกหนึ่งลวดลายอัตลักษณ์ของไททรงดำ ซึ่งจะมี ผ้าซิ่นลายแตงโม โดยลวดลายมีเรื่องเล่าขานสืบถึงความรักของภรรยาที่มีต่อสามีที่จากบ้านไปไกล ขณะทอผ้าจะนำเส้นด้ายสีแดงซ่อนอยู่ในลายผ้าแทนความรักความคิดถึง ส่วนด้านนอกเป็นสีมะเกลือ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บันทึกเล่าขยายลายผ้าดังกล่าวอีกว่า ซิ่นแตงโม หรือ ผ้าซิ่นลายแตงโม จะทอด้วยฝ้ายสีที่เป็นเอกลักษณ์คือสีดํา หรือสีครามเข้มเกือบดํา โดยส่วนของตัวซิ่นเป็นผืนผ้าส่วนที่มีลายซึ่งในอดีตใช้เส้นฝ้ายสีแดงเป็นเส้นยืน และใช้เส้นฝ้ายสีดําเป็นเส้นพุ่งทอสลับกับสีขาวหรือสีฟ้าอ่อนแบบในปัจจุบันลักษณะเป็นลายทางยาวตรงลงมาเป็นแนว มีทั้งเส้นเล็ก เส้นใหญ่สลับกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่บอกเล่าความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สัตว์หิมพานต์ ดังที่กล่าวมี ลายนาค ลายหงส์ ลายโคม ฯลฯ แสดงออกบนผ้าทอ อีกทั้งยังมีอีกหลากหลายลวดลายที่สวยงาม อย่างเช่น ลายหมี่ ลายตะเภาใหญ่ ลายนาคสองหัว ลายนกคุ้ม ฯลฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยลวดลายที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้ทอ

การศึกษาผืนผ้าจากที่กล่าวส่งต่อสร้างการเรียนรู้ได้อีกหลายมิติ ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัย การส่งต่อความรู้สิ่งทอไปในชุมชนของทางคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ซึ่งบุคลากรมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทอพื้นถิ่นได้ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า นอกจากผืนผ้าจะบอกเล่าในมิติงานศิลปหัตถกรรม ในผืนผ้ายังมีเรื่องราวทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรมทั้งเรื่องราวภูมิประเทศ โดยในครั้งอดีตกว่าจะเป็นผ้าทอผ้าซิ่นแต่ละผืน ในเรื่องของวัสดุทอ สีสันจะเป็นวัสดุจากธรรมชาติโดยถ้าศึกษาเรื่อง สี หากนำมาวิเคราะห์จะบอกเล่าส่งต่อองค์ความรู้ได้อีกมาก เช่น วัตถุดิบให้สีใดที่นำมาทำสีย้อม แสดงถึงความสมบูรณ์ความหลากหลายของพืชพรรณไม้ ฯลฯ

หากมองในด้าน ลวดลาย จากที่กล่าวลายผ้าสื่อแสดงคติความเชื่อ ความคิดสร้างสรรค์ การนำสิ่งที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณไม้ สัตว์ สิ่งรอบตัวนำผูกลายดีไซน์ความงามลงไปในผืนผ้า ซึ่งดังที่กล่าว ผ้าทอเป็นงานศิลปะเคลื่อนที่ ถ้าจะเปรียบดั่งภาพวาด เมื่อสวมใส่ ภาพศิลปะบนผืนผ้าจะเคลื่อนที่เล่าเรื่องราวที่ช่างทอสร้างสรรค์ โดยถ้าศึกษาวิเคราะห์ลงลึกต่อไป ผ้าซิ่นผืนผ้าในอดีตแต่ละผืนมีความงาม ความพิเศษในตัวที่ต่างกัน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ลายผ้า การดีไซน์ลวดลายที่ช่างทอผ้าในอดีตฝากไว้ เป็นต้น

ผ้าซิ่นในปัจจุบันวัสดุที่นำมาใช้ทอมีทั้ง ไหมและฝ้าย แล้วแต่กลุ่มผู้ทออีกทั้งมีการเพิ่มวัสดุพิเศษ ดิ้นเงินดิ้นทอง รวมถึงการทอผสานกันใช้ฝ้ายแกมไหมทอในผืนผ้าอย่างเช่น ตัวซิ่นเป็นฝ้ายส่วนจกเป็นไหมเพิ่มความงามให้กับผืนผ้า ทั้งนี้ การสืบสานการทอมีความสำคัญ เช่นเดียวกับการนำมาใช้ นำมาสวมใส่ ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยสืบรักษาผ้าทอ ผ้าไทย ทั้งนี้คณะฯ ให้มุมมอง การนุ่งซิ่นซึ่งสวมใส่ สร้างสรรค์การนุ่งซิ่นได้หลายรูปแบบ ที่นอกจากการตัดเย็บเป็นผ้านุ่งสำเร็จรูปซึ่งอาจใส่ได้แบบเดียว

“ในความพิเศษของผ้าซิ่นสามารถนุ่งได้หลายแบบ ปรับเปลี่ยนใส่ได้ไม่ซํ้าเดิมแม้จะเป็นผืนเดียวกัน อย่างเช่น ถ้าเป็นผ้าผืนยาวนำมาจับ พัน ในลักษณะกระโปรงป้าย ขณะที่ป้ายก็สามารถจับจีบ พับตกแต่งดีไซน์ได้อีกหลายแบบ หรือถ้าเป็นผ้าซิ่นเป็นถุง โดยทั่วไปจะนุ่งทับซ้ายขวาอาจดีไซน์เป็นรูปแบบกระโปรงซึ่งออกแบบการนุ่งได้หลายลักษณะจับจีบ นำมาทบกันเป็นกระโปรงเอวรูด กระโปรงทวิส หรือกระโปรงเอวสูงฯลฯทำได้หลายแบบ โดยจะเหมือนเป็นกระโปรงสำเร็จรูป ซึ่งปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความกว้างของผ้า”

นอกจากนี้ให้มุมมองถึง การใช้ประโยชน์ผ้าซิ่นเก่า ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ตกแต่งเพิ่มมูลค่าคุณค่า ดังเช่น นำลวดลายทอตกแต่ง ดีไซน์เป็นกระเป๋า เข็มขัด เป็นกรอบรูป ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ การใช้ผ้าทอผ้าไทย สืบรักษาคุณค่างานหัตถศิลป์หัตกรรมไทย

สร้างความยั่งยืนให้กับผืนผ้าและสวมใส่ได้กับทุกเจเนอเรชัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ