ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเจดีย์คีรีวิหาร ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นายปรัชญา เสริฐลือชา นอภ.ลับแล พร้อมประชาชนในพื้นที่พร้อมใจสวมใส่ผ้าไทย ร่วมประเพณี “ค้างบูยา” ที่จัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ซึ่งเป็นวิถีชุมชนชาวเมืองลับแลที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น โดยจะจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษา สำหรับปีนี้ได้ปรับกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 งดการแห่ ที่มีทั้งขบวนกลองยาว นางรำ เหลือเพียงพิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ กรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ

ประเพณีค้างบูยา เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อ.ลับแล แสดงถึงสายสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวลับแลร่วมอนุรักษ์สืบสานมานานกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษา เพื่อถวายข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ คล้ายกับการทอดผ้าป่า

“ค้างบูยา” มาจากก๊าง ที่แปลว่ากิ่ง และบูยา คือ การนำยาเส้นมาแขวนไว้ที่ก๊าง เปรียบเหมือนต้นกัลปพฤกษ์ที่มีของกินของใช้ ห้อยแขวนประดับให้ดูสวยงาม ด้านล่างจะเป็นกระจาดใส่ พืชไร่ พืชสวน ตามที่หาได้ เช่น ทุเรียน ลางสาด ลองกอง ส้ม กล้วย หมากผลไม้ ฟัก ฟักทอง เป็นต้น แต่ส่วนประกอบในแต่ละชั้นจะประดับตกแต่งเรียงร้อยด้วยมวนบุหรี่ มวนยาสูบ ห้อยอยู่ตามชั้น ส่วนของใช้ที่นำมาแขวน ก็อาจเป็นไม้ขีดไฟ สมุด ดินสอ ปากกา ขนมช้าง ขนมปลา ทำควบคู่ไปกับประเพณีทานสลากชะลอม (ก๋วยสลาก) ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และเจ้ากรรมนายเวร โดยชาวบ้านจะจัดทำชะลอมขนาดเล็กเท่ากับจำนวนคนในบ้าน ภายในกรุด้วยใบตอง เพื่อไม่ให้มองเห็นของข้างใน ซึ่งจะใส่ข้าวเปล่า อาหาร ผลไม้ ขนมและหมากพลู อย่างละนิดละหน่อยแต่มีครบทุกอย่าง