เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร. พร้อมคณะร่วมแถลงปิดคดี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” ผู้ต้องหาวางยาฆ่าเจ้าหนี้ 15 คดี ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยคดีแรกเกิดในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ศพแรกคือ น.ส.มณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ เสียชีวิตวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ในคอนโดฯ ย่านทองหล่อ ศพที่ 2 คือ น.ส.นิตยา แก้วบุปผา เสียชีวิต 23 สิงหาคม 2553 ในห้องพักที่จังหวัดนครปฐม ศพที่ 3 น.ส.สาวิตรี บุตรศรีรักษ์ เสียชีวิตวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ในจังหวัดมุกดาหาร ศพที่ 4 น.ส.ดาริณี เทพทวี เสียชีวิตวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ในบ้านพักพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ศพที่ 5 นายสุรัตน์ ทรพับ เสียชีวิตวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่บ้านพัก ในจังหวัดกาญจนบุรี รายที่ 6 คือ ร.ต.อ.หญิง กานดา โตไร่ เสียชีวิตวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เสียชีวิตในรถยนต์ตัวเองในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 7 คือ น.ส.รสจรินทร์ นิลน้อย เสียชีวิต 10 สิงหาคม 2565 ที่แผงขายผักตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร รายที่ 8 นางจันทร์รัตน์ วงศ์ไกรสิน เสียชีวิต 15 สิงหาคม 2565 ในบ้านพัก จังหวัดเพชรบุรี รายที่ 9 นางมณีรัตน์ พจนารถ เสียชีวิตวันที่ 10 กันยายน 2565 ที่ตลาดนครปฐม รายที่ 10 น.ส.กะณิกา ตุลาเดชารัตน์ เสียชีวิต 12 กันยายน 2565 ที่ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน จ.ราชบุรี รายที่ 11 น.ส.กานติมา แพสะอาด เจ็บป่วยวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่หน้าร้านหมูกระทะ หลังนางสรารัตน์ ให้กินยาแคปซูลอ้างเป็นยาแก้ไอ แต่ท้ายสุดรอดชีวิต เนื่องจากแพทย์ให้การช่วยเหลือได้ทัน

รายที่ 12 น.ส.ผุสดี สามบุญมี เสียชีวิต 20 พฤศจิกายน 2565 ใน จ.นครปฐม และรายที่ 13 นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ อดีตสามีนางสรารัตน์ หลังหย่าร้างกับรองอ๊อฟ เสียชีวิตวันที่ 12 มีนาคม 2566 ใน จ.อุดรธานี รายที่ 14 พ.ต.ต.หญิงนิภา แสงจันทร์ เสียชีวิตวันที่ 1 เมษยายน 2566 หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม รายสุดท้าย รายที่ 15. น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย เสียชีวิตวันที่ 14 เมษายน 2566 ที่ศาลาประชาคมบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีความเกี่ยวพันกับ แอม ไซยาไนด์ ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์

สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดี ประกอบด้วย ตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 7 ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด พยานแวดล้อมและพยานใกล้ชิดผู้เสียชีวิต และพยานที่ใกล้ชิดกับนางสรารัตน์ เอง พร้อมสอบปากคำแพทย์ผู้ชันสูตร รวมกว่า 918 ปาก ยังมีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน ถือเป็นคดีที่ระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดในประเทศไทย จนสามารถสรุปสำนวนดำเนินคดีนางสรารัตน์ รวม 15 คดี ประกอบด้วย ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ, ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และมีการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รวมกว่า 75 ข้อหา

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังสรุปสำนวนดำเนินคดีกับบุคคลใกล้ชิดนางสรารัตน์ อีก 2 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพยานหลักฐานได้แก่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามีแอมคนล่าสุด และ น.ส.ธันย์นิชา ทนายความส่วนตัวของนางสรารัตน์ ดำเนินคดี ฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผู้ต้องหาวางแผนฆาตกรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปี โดยวางยาพิษให้เหยื่อกินจนเสียชีวิตในลักษณะเหมือนการเจ็บป่วย ด้วยภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลวเพื่อให้ญาติไม่มีข้อสงสัย ก่อนหวังเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หรือล้างหนี้ที่เคยยืมกันมา โดยคดีนี้ได้กำชับตำรวจให้รวบรวมพยานหลักฐานด้วยความละเอียดรอบคอบและแสวงหาหลักฐานให้ได้มากที่สุด เนื่องจากคดีผ่านมาหลายปี อาจมีความยากลำบากในการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ตำรวจได้ทำงานอย่างเต็มที่ จนสามารถสั่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้