จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ปรับปรุงข้อมูลหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยเพิ่ม 4 กลุ่มหนี้สำคัญเข้ามาเพิ่มเติม คือ หนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) , หนี้สหกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ , หนี้พิโกไฟแนนซ์ และหนี้การเคหะแห่งชาติ เพื่อให้หนี้ครัวเรือนครอบคลุมมากขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรก 2566 เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 7.66 แสนล้านบาท โดยหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรก 2566 แตะ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี จากการคำนวณเดิม 15.2 ล้านล้านบาท หรือ 86.3% ต่อจีดีพี

หากย้อนดูหนี้ครัวเรือนในอดีตมีอัตราที่เร่งเพิ่มขึ้นในทุกๆไตรมาส แม้มีบางช่วงที่สัดส่วนลดลงบ้างนั่นเป็นเพราะจีดีพีประเทศเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ความจริงหนี้ครัวเรือนไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส มาดู “สถิติหนี้ครัวเรือน” ที่ได้รวบรวมระหว่างปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีดังนี้

-ไตรมาส 1/2563 = 14.21 ล้านล้านบาท คิดเป็น 84.6% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 2/2563 = 14.29 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.3% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 3/2563 = 14.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.2% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 4/2563 = 14.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.2% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 1/2564 = 14.86 ล้านล้านบาท คิดเป็น 95.5% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 2/2564 = 15.00 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.2% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 3/2564 = 15.06 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.2% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 4/2564 = 15.31 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.7% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 1/2565 = 15.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 93.8% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 2/2565 = 15.51 ล้านล้านบาท คิดเป็น 92.8% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 3/2565 = 15.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.5% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 4/2565 = 15.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.4% ต่อจีดีพี
-ไตรมาส 1/2566 = 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี

หากมาจำแนกดูหนี้ครัวเรือนตามประเภทของสินเชื่อ ณ ไตรมาสแรก 2566 มูลหนี้รวม 15.96 ล้านล้านบาท แยกได้ดังนี้

-สถาบันรับฝากเงิน รวม 12.89 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ 6.32 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน 4.26 ล้านล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ 2.24 ล้านล้านบาท สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ 58,276 ล้านบาท

-สถาบันการเงินอื่น รวม 2.36 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.84 ล้านล้านบาท บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต 179,401 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ 116,460 ล้านบาท ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 87,955 ล้านบาท โรงรับจำนำ 82,264 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่นๆ (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และพิโกไฟแนนซ์) 51,625 ล้านบาท

-นอกเหนือจากนี้ อื่นๆ ประกอบด้วย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การเคหะแห่งชาติ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสหกรณ์ร้านค้า 703,741 ล้านบาท

(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ 30 มิ.ย.2566)