โอกาสสานสัมพันธ์ไทยจีน ครบรอบ 48 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ และร่วมเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทยให้มีความยั่งยืน และพัฒนายิ่งขึ้นตลอดไป คณะผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ระหว่าง สองประเทศ

ทีมข่าวเปิดประเด็น “คำถามแรก” นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทยเมื่อ 48 ปีที่แล้ว การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายประสบความสำเร็จที่สำคัญอะไรบ้าง?

ท่านทูตหาน จื้อเฉียง กล่าวว่าปีนี้ครบรอบ 48 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทย และเป็นการเริ่มต้นทศวรรษที่สองของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อมองย้อนกลับไปเกือบครึ่งศตวรรษจะเห็นว่า การดำเนินความสัมพันธ์ประสบผลสำเร็จอย่างมากมาย ความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมืองได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสัมพันธ์จีน-ไทย ในฐานะ หุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน จีนและไทยเคารพซึ่งกันและกันในทางการเมืองมาโดยตลอด ปฏิบัติตามบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกันบนเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศตนเอง

ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้ค้นพบเส้นทางที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศที่มีระบบแตกต่างกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จในการเยือนประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งสองประเทศได้ประกาศร่วมสร้างชุมชนแห่งโชคชะตาร่วมจีน-ไทย ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเป็นการชี้ชัดถึงทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไทยยุคใหม่ อีกทั้งได้เพิ่มเนื้อหาแห่งยุคสมัยให้กับคำว่า “จีนไทยครอบครัวเดียวกัน” ตลอดจนส่งเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศสู่ระดับที่สูงขึ้นไปอีก

ความร่วมมือเชิงปฏิบัติทำให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับไทยสูงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 10 เมื่อปีที่แล้ว การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในไทยสูงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 76,333 ล้านบาท) จีนกลายเป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกครั้ง

มิตรภาพที่ดีพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์จีนไทย

สำหรับการลงทุนของไทยในประเทศจีนก็รักษาแนวโน้มที่ดีเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการดำเนินงานตามแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูงและการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกัน ได้สร้างโอกาสการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของทั้งสองประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด

มิตรภาพของประชาชนเป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์จีนไทยอย่างไม่มีสิ้นสุด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันด้วยการเชื่อมโยงทางภูมิประเทศ และเป็นญาติที่ดีต่อกันด้วยการเชื่อมโยงทางสายเลือด

ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการณ์ทางการเงิน เมื่อปี 2540 หรือ แผ่นดินไหวที่เวิ่นชวน ไม่ว่าจะเป็น สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย หรือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความยากลำบากและบททดสอบทุกรูปแบบ จีนและไทยต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เพื่อเอาชนะความยากลำบาก การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ยังคงเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้คนของทั้งสองประเทศ คนไทยหลายล้านคนกำลังเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างกระตือรือร้น ผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ยอดเยี่ยมของ
ทั้งสองประเทศกำลังเฟื่องฟูในประเทศของกันและกัน หลังจากสามปีแห่งการระบาดของโควิด-19 ไทยยังคงเป็นตัวเลือกแรกสำหรับชาวจีนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

การปกป้องสันติภาพและการพัฒนาในระดับนานาชาติ และระดับภูมิภาค แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความสัมพันธ์จีน–ไทยในระดับโลก ทั้งสองประเทศยังคงประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง และความร่วมมือจีน-อาเซียน พร้อมทั้งมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายยังคงสื่อสารอย่างใกล้ชิดในเวทีต่าง ๆ เช่น เอเปคและสหประชาชาติ หารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่วมกันสนับสนุนลัทธิพหุภาคีและระเบียบระหว่างประเทศที่มีหลักธรรมาภิบาล ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก ข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมโลกที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนจากประเทศไทยอย่างกระตือรือร้น

เชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาสร้างรูปแบบใหม่

คำถามข้อสอง” ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์อย่างไรในอนาคต และจะมุ่งเน้นในด้านใด? ท่านทูตหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ตอบว่า เมื่อมองไปในอนาคต เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับไทย เพื่อปฏิบัติตามเป้าหมายสำคัญ ในการสร้างชุมชนจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในระดับสูงขึ้นในทุกด้าน

ประการแรก คือการรักษาความถูกต้องและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้มั่นใจว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทยจะก้าวไปข้างหน้าบนเส้นทางที่ถูกต้องเสมอ สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความยุ่งเหยิง และการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมั่นคง กำลังเผชิญทั้งโอกาส และความวุ่นวายกับความท้าทาย เราต้องยึดมั่นบนเส้นทางแห่งสันติภาพและมิตรภาพที่ถูกต้อง ปฏิเสธแนวคิดผลรวมเป็นศูนย์และแผนการสงครามเย็น เราต้องยืนยันในอิสรภาพและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการมุ่งสู่เส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศตนเอง

ประการที่สอง คือการเสริมสร้างการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างรูปแบบใหม่ของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระดับสูง ส่งเสริมการสร้างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สร้างเส้นทางใหม่ ๆ สำหรับการเชื่อมโยงถึงกัน ใช้เงื่อนไขพิเศษจากอาร์เซ็ป และเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ให้เป็นประโยชน์ และกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของความร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร 5จี เพื่อสร้างจุดเด่นใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

ประการที่สาม คือการต่อยอดจากอดีตและเปิดอนาคตใหม่ เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ เสริมสร้าง soft connect ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและข้อมูลข่าวสารระหว่างทั้งสองฝ่าย ขยายความร่วมมือในด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และการศึกษา ส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย และรักษาสถานะของจีน ในฐานะประเทศแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย กระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนของสองประเทศ และสืบทอดมิตรภาพจีน-ไทย

ประการที่สี่ คือการยึดมั่นในการพัฒนาอย่างสันติของภูมิภาค ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาภูมิภาคที่เป็นบ้านร่วมกัน จีนสนับสนุนไทยในการเป็นประธานร่วมของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง สนับสนุนไทยเป็นผู้นำการเจรจาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 และยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคอย่างเหมาะสม ยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียน และส่งเสริมการสร้างเขตการค้าเสรีจีน-ประชาคมอาเซียน ที่มีอนาคตร่วมกัน

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”สร้างประชาคมจีนอาเซียน

“คำถามข้อสาม” ในปี 2564 จีน-อาเซียนได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจะพัฒนาไปอย่างไรในอนาคตนั้น? ท่านทูตหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า อาเซียนเป็นทิศทางหลักของการทูตจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน จีน-อาเซียนได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นการกำหนดก้าวสำคัญครั้งใหม่ ในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคี จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกันและกัน และมีความร่วมมือที่มีชีวิตชีวาในทุกด้าน สามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในปัจจุบัน ได้กลายเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จ และมีพลวัตที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อนที่ดี และหุ้นส่วนที่ดีของอาเซียนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปี ข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าด้วยการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนอาเซียนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

นอกจากนี้ ยังเป็นวาระครบรอบ 20 ปี การที่จีนเข้าร่วมสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วาระสำคัญเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่จะสานต่ออดีตและก้าวสู่อนาคต จีนยินดีทำงานร่วมกับอาเซียน เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และร่วมกันสร้าง “บ้านห้าหลัง” ของจีน-อาเซียน ว่าด้วยเรื่อง สันติภาพ ความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความสวยงาม และ มิตรภาพ จีนจะสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน และการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแน่วแน่ สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาคอย่างแข็งขัน สนับสนุนอาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

จีนและอาเซียนจะยังคงปฏิบัติตามสนธิสัญญามิตรภาพ ความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคได้ประโยชน์ร่วมกัน การปรึกษาหารือกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ยึดมั่นในหลักภูมิภาคนิยมที่เปิดกว้าง หลักพหุภาคีอย่างแท้จริงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สันติ และมั่นคงสำหรับการพัฒนาในภูมิภาค.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป : เรื่อง / จุมพล นพทิพย์ – พิชญวัช ปรุงศักดิ์ : ภาพ