เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งวัฒนะ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี 10 นาย เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด เพื่อให้ร่วมการสอบสวนตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการเรียกรับเงินผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์รวม 140 ล้านบาท โดยมีโดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับเรื่อง

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ตำรวจที่มีรายชื่ออยู่ในชุดจับกุมหลายคน ไม่ได้กระทำความผิด แต่กลับถูกเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาที่สโมสรตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานชุดสืบสวนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่ผ่านมาพบว่าชุดทำงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สร้างพยานหลักฐานเท็จ และสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีลูกน้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกี่ยวข้องกับการอุ้มตัวนายเป้ ผู้ต้องหาเว็บพนันไปอุ้มรีดเงินด้วย

นายอัจฉริยะ ยังระบุว่า คดีนี้ได้สั่งการให้ตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรจราจร และรองผู้กำกับการปราบปราม ของ สภ.พัทยา ร่วมนำตำรวจในชุดจับกุมมาแจ้งข้อกล่าวหา และทำเอกสารรายงานการสืบสวนไปขอศาลออกหมายจับรวมทั้งปลอมลายเซ็น และบังคับให้พนักงานสอบสวนบางนาย ลงชื่อในบันทึกจับกุม ซึ่งหากทำสำเร็จ จะให้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีเอกสารการสืบสวนคดีของนายเป้ ที่พบว่าเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์หลายเว็บไซต์ โดยมีเงินหมุนเวียนกว่า 10,841 ล้านบาทต่อเดือน จากนั้นจะส่งเงินเป็นระบบคริปโตฯ ไปยังไปประเทศสิงคโปร์ แต่หลังจากที่นายเป้ถูกจับแล้ว กลับพบว่ามีความพยายามทำให้นายเป้ พ้นผิด

นายอัจฉริยะ ได้นำภาพถ่ายที่ระบุว่า เป็นภาพของรองผู้บังคับการสืบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กำลังนั่งสอบปากคำ นายบอย ที่พบว่าเป็นคนมาเจรจาเรื่องเงิน 140 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาแสดงต่อสื่อมวลชน และระบุว่า เป็นคนที่ช่วยเหลือให้นายบอย หลบหนีไปประเทศสิงคโปร์ หลังจากเกิดเหตุแล้ว โดยยังมีนักการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่งคนหนึ่ง ได้ร่วมกระทำผิดกับนายบอยด้วย พร้อมกับตั้งคำถามถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า จะดำเนินคดีกับเพื่อนของตัวเองหรือไม่ เนื่องจากมีหลักฐานที่พบว่ากระทำผิดชัดเจน ส่วนการที่นายเป้ อ้างว่าถูกรีดเงินกว่า 140 ล้านบาทนั้น แท้จริงแล้วถูกเรียกเงินเพียง 65 ล้านบาทเท่านั้น

นายอัจฉริยะ ยังได้นำคลิปเสียงของผู้กำกับ สภ.เมืองพัทยา ที่ได้โทรศัพท์มาเรียกให้ ด.ต.กิติศักดิ์ นาคนิยม ผบ.หมู่(ป.) สภ.เมืองพัทยา ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในชุดจับกุม ที่เข้าไปช่วยค้นที่คอนโดมิเนียมของเครือข่าย มาพบที่สโมสรตำรวจ แต่ปฏิเสธไม่เข้าพบ เนื่องจากต้องการทนายความเข้าไปด้วย ทำให้ผู้กำกับ สภ.เมืองพัทยา ถูกสั่งย้ายให้มาช่วยราชการที่สโมสรตำรวจ หลังจากที่ไม่สามารถเรียกตัวผู้ใต้บังคับบัญชามาได้ และเห็นว่าตำรวจหลายนายถูกข่มขู่เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา และจะตกเป็นผู้ต้องหาทันที โดยที่ยังไม่มีการสอบสวนร่วมกับอัยการตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย

นายอัจฉริยะ ยังระบุว่า หลังจากนี้ หาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังไม่ให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ก็จะไปร้องให้กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. ดำเนินคดีกับชุดจับกุม และแจ้งกล่าวหาโดยมิชอบ

ขณะที่ ร.ต.อ.สมบุญ บุดดาเลิศ รอง สว.สส.สภ.พลูตาหลวง เปิดเผยว่า ได้รับคำสั่งให้มาช่วยตรวจค้นในวันจับกุม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. โดยไปทำหน้าที่อ่านหมายจับต่อหน้าผู้ต้องหา ในบ้านของผู้ต้องหาย่านคันนายาว จากนั้นก็ได้นำตัวไปที่ตำรวจภูธรชลบุรี และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการร่วมทำคดีอีก และไม่รู้เรื่องการเรียกรับเงิบ 140 ล้านบาท จนกระทั่งถูกเรียกให้มาที่สโมสรตำรวจ และถูกแจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา ทันที โดยถูกให้เหตุผลว่า มาพบพนักงานสอบสวนเอง ไม่ได้ออกหมายเรียกมาพบ จึงต้องแจ้งข้อหาทันที จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ขณะที่นายโกศลวัฒน์ เปิดเผยถึงขั้นตอนหลังจากรับหนังสือดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีตำรวจ 5 นาย ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าว ประกอบด้วยตำรวจในท้องที่จ .ชลบุรี และตำรวจ สอท. นำหนังสือ มาร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยสำนักงานอัยการ ฝ่ายการสอบสวน อยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนหนังสือที่ยื่นในวันนี้ จะนำเสนออัยการสูงสุดในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่จะนำไปรวมกับผู้ที่มาร้องเรียนไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งได้พิจารณาไปแล้วส่วนหนึ่ง หากรวมทั้ง 2 กรณีไว้ด้วยกันได้ก็จะรวม และจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด ยืนยันว่าอัยการสูงสุดจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย จะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสังคมและประชาชน

ส่วนกรณีนี้ที่ถูกตั้งคำถามถึงการสอบสวน จากทีมชุดคลี่คลายคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่าทางอัยการสูงสุดจะเข้าไปดูแลหรือว่าตรวจสอบสำนวนและการทำคดีอย่างไร เนื่องจากผู้ร้องมีความไม่สบายใจและมองว่าผิดปกติ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า ตามกฎหมายแล้วทางอัยการสูงสุด จะเข้าไปกำกับไปตรวจสอบว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งจะยึดหลักการพิจารณาตามกฎหมาย วิธีพิจารณาความทางอาญา เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากใครถูกแจ้งข้อกล่าวหา หรือตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนจะให้ความเป็นธรรม โดยกฎหมายระบุว่าต้องสอบให้ได้ความจริง ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดหรือบริสุทธิ์ ฉะนั้นในชั้นต้น ที่เคยมีผู้เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทางอัยการสูงสุดได้แจ้งว่าให้การโดยละเอียด ซึ่งจะปรากฏในสำนวน เมื่อมาถึงพนักงานอัยการ ก็จะมีหน้าที่พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้อง

ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ก็จะต้องขอตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบสวนว่ามีความบกพร่องหรือไม่อย่างไร เพราะในขณะนี้ที่ได้รับเรื่องมา ทั้งจาก 2 ฝ่าย 2 ด้าน มาด้วยเอกสารที่จำกัด ซึ่งพนักงานอัยการไม่ได้เห็นสำนวนที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ เนื่องจากสำนวนยังอยู่กับชุดคลี่คลายคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หากพิจารณาข้อมูลการร้องขอความเป็นธรรมว่าเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ก็จะนำเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดสั่งการดำเนินการช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป.