เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา ร่วมกันแถลงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุพังถล่มขณะกำลังก่อสร้าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ว่า จากที่มีข่าวระบุว่า ทีมชัชชาติสั่งเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง ยืนยันว่าไม่มีตามที่มีข่าวระบุ ไร้สาระ จริงๆ แล้วเป็นไปตามกระบวนการก่อสร้างตามปกติ ซึ่งผู้รับเหมาก็มีการทำที่ล่าช้า ก็มีการขอเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีที่เราไปสั่งเปลี่ยนอะไร การสื่อสารอะไรขอให้ดูด้วยความถูกต้องด้วย เพราะจริงๆ แล้วถ้านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จทางออนไลน์ ก็มีความผิดทางกฎหมาย และอย่าไปสร้างความสับสนให้กับสังคม อยากขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ที่ออกมาพูด


นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจสอบสาเหตุสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน (Box Segment) วิบัติขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับทับ โครงสร้างสะพานบริเวณเสาที่ (pier) 83 และ 84 เสียหาย 1 ช่วงสะพาน ส่งผลให้ชิ้นส่วนของสะพานและ Truss กีดขวางช่องจราจรฝั่งขาเข้าทั้ง 2 ช่องจราจร คนงานชุดปฏิบัติการดึงร่วนอัดแรงและชุดปฏิบัติงานติดตั้งชิ้นส่วนสะพานได้รับบาดเจ็บ สรุปมีผู้บาดเจ็บ 13 คน และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย วิศวกรที่คุมงานก่อสร้างและคนงาน ส่วนสาเหตุของการเกิดการถล่มในครั้งนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ประสานผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย แต่การเกิดเหตุเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง 


นายชัชชาติ กล่าวถึง ระยะเวลาในการเคลียร์พื้นที่เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจรให้กับประชาชนระบุว่าเบื้องต้นประมาณ 3 วัน เพื่อจะได้เปิดการจราจร ลำดับการเคลียร์ รื้อ Truss ด้านหน้า น้ำหนักประมาณ 7 ตัน 4 ชิ้น รื้อ Main Truss 2 ชุด แบ่งเป็นชุดละ 5 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 30 ตัน ตรวจสอบโครงสร้างบล็อกอัดแรง เพื่อตรวจสอบสาเหตุและวางแผนในการรื้อถอนต่อไป


ขณะที่ นายธวัชชัย กล่าวว่า ในรูปแบบของการประกวดราคาครั้งนี้ เราใช้ในรูปแบบการหล่อในที่ แต่ก็ได้มีการเปิด tor ไว้ว่าสามารถเสนอเป็นรูปแบบหล่อสำเร็จก็ได้ เส้นทางผู้รับจ้างในช่วงต้นก็ทำแบบหล่อในที่ แต่เนื่องจากเป็นวิธีการที่เก่าแล้วและมีผลกระทบเรื่องการจราจรและใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน อีกครั้งการก่อสร้างของผู้รับจ้างก็ได้ล่าช้ามา ทางผู้รับจ้างจึงได้ยื่นขอเปลี่ยนรูปแบบเอง เป็นการหล่อสำเร็จเพื่อยกมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งก็เป็นวิธีการก่อสร้างที่ทำกันปกติ โดยยื่นขอเปลี่ยนในช่วงประมาณปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 


นายวิศณุ กล่าวเสริมว่า การหล่อ Segment สำเร็จรูปจากโรงงาน ก็จะดีกว่า เพราะสามารถควบคุมคุณภาพได้มากกว่าการหล่อในที่ และไม่มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้าง ยืนยันว่าการนำ Segment ที่มีการหล่อสำเร็จมาใช้มีความปลอดภัย


นายชัชชาติ กล่าวยืนยันว่า รูปแบบดังกล่าว เป็นวิธีก่อสร้างที่มีการทำกันอยู่แล้ว มีการควบคุมตามหลักวิศวกรรม ไม่ได้มีความปลอดภัยน้อยลง แต่คาดว่าสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง ส่วนบริษัทที่รับเหมายอมรับเพิ่งรับงานครั้งแรกกับทาง กทม. และประมูลตามขั้นตอนและเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาท และเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ใน กทม. ไม่มีการก่อสร้างแบบในจุดเกิดอื่น มีเพียงการก่อสร้างสะพานทางเดินเชื่อมตรงย่านบางกะปิ 


นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มว่า ขั้นตอนจากนี้คือให้บริษัทรับเหมาเสนอแผนการรื้อถอน โดยมีโยธา กทม. และวิศวกรรมสถานเป็นผู้พิจารณา โดยขณะนี้สั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน และตรวจสอบความแข็งแรงของ ตัว Launching Truss อีกตัวที่เหลืออยู่ ซึ่งในขั้นตอนการรื้อถอน ได้สั่งกำชับให้มีการเก็บหลักฐานต่างๆ ด้วย 


สำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินความเสียหายต่างๆ ทาง กทม. และบริษัทผู้รับเหมาพร้อมรับผิดชอบและดูแลอย่างเต็มที่ เบื้องต้น ผู้บาดเจ็บ 13 ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว.